“GooGreen” สตาร์ทอัพพิฆาต “ขยะ”

23 June 2018 Startups

ถึงวันนี้เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มตระหนักถึงภัยสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการบริหารจัดการขยะอย่างไร้ประสิทธิภาพกันมากขึ้น หลังจากภาพของประเทศไทยที่มีปลาวาฬเกยตื้นตายเพราะกินถุงขยะพลาสติกเข้าไปกว่า 80 ชิ้นได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังมีบ่อขยะอีกหลายบ่อที่พร้อมจะลุกไหม้เนื่องจากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องปรากฏในข่าวอยู่เป็นระยะๆ ด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่ภาพที่ทุกคนอยากเห็นกันอย่างแน่นอน

ในมุมของสตาร์ทอัพ การจัดการขยะก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่มีหลายสตาร์ทอัพลงมาร่วมด้วยช่วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “GooGreen” สตาร์ทอัพของหญิงแกร่งอย่าง “ปุ๊ – ฉัตรศนัน มาสว่างไพโรจน์” ที่กำลังสร้าง GooGreen ให้เป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บและคัดแยกขยะสำหรับคนเมืองได้อย่างลงตัว โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเป็น GooGreen นั้น ฉัตรศนันมีการทำงานร่วมกับชุมชน โรงเรียน และโรงงานมาอย่างต่อเนื่อง และเธอพบว่าทั้งสามหน่วยงานนี้สามารถคัดแยกขยะได้เป็นอย่างดี แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงก็คือมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานอยู่ตามอาคารสำนักงานต่างหาก

“ต้องยอมรับว่าคนออฟฟิศส่วนใหญ่ก่อขยะพลาสติกเยอะ แต่กระบวนการจัดเก็บทำได้แค่ 20% ของทั้งหมด อีก 80% จึงกลายเป็นปัญหาอย่างที่ปรากฏ น่าดีใจที่เราก็พบว่า คนที่อยู่ตามอาคารสำนักงานต่างๆ เขาก็อยากได้โซลูชันในการจัดการขยะ เราจึงสร้าง GooGreen ขึ้นมา และทำให้มันกลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการกำจัดขยะของคนเมือง”

โดยแพลตฟอร์มของ GooGreen ประกอบด้วยแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและบนเว็บ รวมถึงมีจุดคิออสสำหรับทิ้งขยะกระจายอยู่ตามอาคารสำนักงานต่างๆ และมีพนักงานคอยแนะนำในการแยกขยะอย่างถูกต้องให้ด้วย ในจุดนี้ ฉัตรศนันให้เหตุผลว่า

“พี่เชื่อว่าคนไทยอ่านภาษาไทยออกกันทุกคน แต่ทำไมเรายังทิ้งขยะไม่ตรงตามที่ถังขยะระบุเอาไว้ ส่วนหนึ่งก็เพราะถังขยะไม่สามารถโน้มน้าวใจให้เราทิ้งอย่างถูกต้องได้ แพลตฟอร์มของเราจึงต้องมีพนักงานให้บริการที่จุดคิออสสำหรับแนะนำการทิ้งขยะอย่างถูกต้องก่อน พอคนเริ่มเรียนรู้ ต่อไปเราอาจไม่ต้องใช้คนแล้ว แต่อาจเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรแทนได้”

แนวคิดสำคัญอีกประการหนึ่งของ GooGreen คือการเปลี่ยนทัศนคติจาก “ทิ้งขยะ” เป็น “ฝากขยะแล้วได้แต้มสะสม” โดยเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้ง ผู้ใช้บริการจะทราบว่าในละแวกออฟฟิศมีคิออสของ GooGreen อยู่ตรงไหนบ้าง ถ้าเขานำขยะที่มีมาฝากยังจุดคิออส ก็จะได้แต้มสะสม และเมื่อสะสมถึงระดับหนึ่งก็สามารถนำไปแลกรางวัลได้

จากการเปิดเผยของคุณฉัตรศนันเกี่ยวกับงานด้านสิ่งแวดล้อม เธอเผยว่า ขยะประเทศไทยแบ่งเป็นแค่ 4 ชนิด ได้แก่ ขยะรีไซเคิล (ร้อยละ 30) ขยะพิษ (ร้อยละ 3) ขยะอินทรีย์ (ร้อยละ 64) ขยะทั่วไป (ร้อยละ 3) โดยขยะที่ต้องไปเข้าหลุมฝังกลบกับเตาเผาคือขยะทั่วไป ส่วนขยะที่เหลืออีกสามชนิดนั้นสามารถนำกลับมาเปลี่ยนเป็นเงินได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากขยะทั่วไปอย่างเปลือกทอฟฟี่ ซองขนม ไม่เลอะเศษอาหาร เราก็นำกลับมาทำเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้อีก ซึ่งจะเท่ากับว่าเราสามารถเปลี่ยนขยะทั้งหมดให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้

นอกจากนั้น อีกหนึ่งความตั้งใจของ GooGreen คือการทำให้ GooGreen เป็นธุรกิจต้นแบบให้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ได้ศึกษาแล้ว Add-on เข้าไปในระบบของเขา เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยคัดแยกขยะได้ด้วยตัวเอง

“ถ้าเรายังทำธุรกิจแบบทุนนิยมดั้งเดิมแล้วโลกไม่รอด ตัวเราก็ไม่มีทางรอด แต่ธุรกิจนี้ดิฉันเชื่อว่าเราวินทั้งสามฝ่าย โลกก็รอด เราก็รอด แล้วทุกคนก็ได้ผลประโยชน์ตอบแทนด้วย” ฉัตรศนันกล่าวทิ้งท้าย