NIA จับมือ UNDP หวังดันไทยขึ้นเป็นฮับนวัตกรรมระดับภูมิภาค

8 June 2018 Startups

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม พร้อมร่วมช่วยผลักดันไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมระดับภูมิภาค

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่าการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และตอบโจทย์กิจกรรมของหลายภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน

NIP จึงร่วมกับ UNDP ซึ่งเป็นผู้ชำนาญระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน โดยกรอบความร่วมมือมี 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยยกระดับธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม

โดยในส่วนของภาครัฐ จะเน้นให้กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และเยาวชนมีส่วนร่วมพัฒนารูปแบบการจัดการองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อให้บริการสาธารณะต่างๆ ของภาครัฐรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

NIA และ UNDP จะร่วมกันสนับสนุนให้เกิด Regional Innovation Centre ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเชิงสังคมในระดับประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม CLMV

หลังลงนามบันทึกความร่วมมือแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะเริ่มโครงการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมในระดับเยาวชน หรือที่เรียกว่า Youth Co: Lab ซึ่งส่งเสริมเยาวชนในการสร้างผลงานต้นแบบ การฝึกอบรม การจัดประกวดมอบรางวัล เป็นต้น

ทั้งคู่จะร่วมจัดฝึกอบรมโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานเครือข่ายของ UNDP มาให้ความรู้เฉพาะด้านและให้คำปรึกษาในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรม ร่วมกันประเมินผลกระทบทางสังคม เพื่อพัฒนาไปสู่ขั้นตอนต่อไปจนประสบความสำเร็จ

ในอนาคต จะมีการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ผลงานได้เป็นที่รู้จัก และสะดวกต่อผู้ใช้ในการค้นหาโซลูชั่นที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาสังคม

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวด้วยว่า NIA ในช่วง 1 – 2 ปีทีผ่านมานี้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มและสาขาธุรกิจเพื่อสังคม (social business sectors) ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ มีการสาธิตผลิตภัณฑ์นำร่อง เพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น

“เรามุ่งส่งเสริมนวัตกรรมเชิงสังคม 9 ด้าน ได้แก่ 1) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ภาครัฐและการศึกษา 4) การเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) เกษตรกรรมยั่งยืน 6) ความเป็นเมือง 7) สุขภาพ 8) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) การจัดการภัยพิบัติ”

กลไกสนับสนุนที่พัฒนาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจะทำผ่าน 5 โปรแกรมหลัก ได้แก่ การสนับสนุนทุนโครงการ การบ่มเพาะโดยหน่วยงานเครือข่าย การขยายผลโครงการนวัตกรรม การประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม และการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมที่เหมาะกับโจทย์ทางสังคมทั้งเก้า ด้าน

ที่ผ่านมาโครงการนวัตกรรมสังคมที่ NIA อนุมัติแล้วมีจำนวนราว 90 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนรวมกว่า 70 ล้านบาท และก่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมรวมกว่า 580 ล้านบาท