กลุ่มทรูจับมือสตาร์ทอัพมะกัน “ซาวิโอ๊ก” นำหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ เปิดตลาดหุ่นยนต์บริการ

26 October 2018 Technology

ทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ ผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มธุรกิจ ไอโอที บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า การร่วมเป็นพันธมิตรกับ “ซาวิโอ๊ก” (Savioke) ผู้ผลิตหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ Relay ที่เปิดตลาดหุ่นยนต์บริการครั้งแรกในประเทศไทย จะทำให้ทรูสร้างความได้เปรียบในฐานะผู้บุกเบิก

“เราเห็นโอกาสการใช้หุ่นยนต์บริการที่ปัจจุบันแม้อยู่ระยะเริ่มต้น แต่มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งการใช้งานกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่จะส่งสินค้าอาหารให้แขกที่มาพัก ตลอด 24 ชั่วโมง ลดการจ้างงานได้ 3 คนใน 3 ช่วงเวลาทำงาน การใช้ในคอนโดมิเนียมระดับบนที่จะส่งสินค้าถึงห้องพักที่สร้างความมั่นใจและปลอดภัย

รวมไปถึงธุรกิจขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิต ที่จะใช้เป็นหุ่นยนต์ให้บริการส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในโรงงาน ธุรกิจโรงพยาบาลที่จะส่งยา”

ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและยั่งยืนของทรู มองว่าอีก 2-3 ปี ไทยน่าจะมีการใช้งานหุ่นยนต์แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะหุ่นยนต์บริการที่ดูแลผู้สูงอายุ

ทางทรูได้ลงทุนวิจัยธุรกิจหุ่นยนต์ตลอด 3 ปี เพื่อสร้างรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ โดยพัฒนาชุดประกอบหุ่นยนต์รองรับตลาดการศึกษา และยังมีอีกสิบรูปแบบการใช้งานที่อยู่ในห้องแล็บ

ล่าสุดได้พัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ Cofe เสิร์ฟกาแฟในร้านทรูคอฟฟี่ และปีหน้าจะเปิดตัวหุ่นยนต์แบรนด์ของตัวเอง

ในส่วนของ Relay ทรูเปิดกว้างให้นักพัฒนาไทยได้มาพัฒนาแอปพลิเคชันต่อยอด ที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละธุรกิจที่หลากหลาย

ทรงธรรม เสริมว่าการทำตลาด Relay จะให้เช่าและขายขาด โดยการเช่า 30,000-100,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับการคอนฟิกูเรชั่น และขายขาดระดับล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าจำหน่ายไว้ 50 ตัว

ทั้งนี้ ธุรกิจหุ่นยนต์ยังเป็นธุรกิจเริ่มต้นภายใต้กลุ่มไอโอที จึงยังไม่สร้างรายได้มากนัก โดยรายได้หลักมาจากไอโอที ที่มีการใช้งานหลากหลายโซลูชันกว่าสิบแอปพลิเคชัน ทั้งสมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้  และอื่นๆ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้แตะพันล้านบาทภายในสิ้นปีนี้

แมทธิว เฟสโต้ว ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านหุ้นส่วนและการขาย บริษัทซาวิโอ๊ก สตาร์ทอัพซีรีส์บี ผู้ผลิตหุ่นยนต์บริการ “Relay” เล่าเสริมว่าไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นฮับด้านการแพทย์และโดดเด่นในธุรกิจโรงแรม

บริษัทเน้นการทำตลาดผ่านตัวแทนที่มีศักยภาพโดยทรูมีจุดเด่นด้านเครือข่ายและการลงทุนวิจัยพัฒนาด้านหุ่นยนต์

ปัจจุบัน มีผู้ใช้หุ่นยนต์ของบริษัทแล้วกว่าร้อยตัวและส่งมอบสินค้าได้สำเร็จ 350,000 ครั้ง โดยประสบความสำเร็จในอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์  และมีแผนจะขยายไปในออสเตรเลียสิ้นปีนี้

เฟสโต้วเล่าถึงกรณีที่น่าสนใจ โรงแรมในสหรัฐฯ ที่เพิ่งเปิดใหม่ ใช้หุ่นยนต์สร้างความแตกต่างโดยให้หุ่นยนต์รับออเดอร์แขกผู้มาพัก และไปรับกาแฟสตาร์บั๊คที่อยู่ติดกันมาส่งให้ถึงห้อง สร้างรายได้ใหม่ ต่อยอดธุรกิจ

ตลาดหุ่นยนต์ทั่วโลกมีระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหลายประเทศเข้าสู่ตลาดนี้ สิ่งที่บริษัทแตกต่าง คือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เอไอ คำนวณเส้นทางให้ดีที่สุด และให้หุ่นยนต์สามารถเชื่อมต่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นได้ โดยเฉพาะลิฟต์โดยสาร ทำให้หุ่นยนต์สั่งการลิฟต์เพื่อนำส่งสินค้าได้ หรือการรองรับการใช้เครือข่ายทั้ง Wi-Fi และซิมมือถือ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น