เปิดกลยุทธ์ Luminar สตาร์ทอัพผู้แจกบัตรเข้าสวนสนุกให้พนักงานฟรี

15 February 2019 Startups

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้บริษัทมากมายต่างควานหามือดีด้านไอทีกันให้ควั่ก และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรดามือดีเหล่านั้นก็มักไปรวมตัวกันอยู่ในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลหรือเฟซบุ๊ก ที่นอกจากเงินเดือนสูงลิบแล้ว ยังมีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ดี ๆ มอบให้กับพนักงานมากมายด้วย แต่โลกเทคโนโลยีก็ยังมีอะไรที่คาดไม่ถึง หนึ่งในนั้นคือการก่อร่างสร้างตัวของสตาร์ทอัพเล็ก ๆ อย่าง Luminar ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์ LiDAR ที่มีอายุเพียงแค่ 6 ปี

อะไรที่ทำให้ Luminar สามารถแจ้งเกิดและดึงคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานได้ แม้ยังไม่มีแบรนด์พนักงานให้มั่นใจ วันนี้เราจะชวนไปหาคำตอบกัน

กลยุทธ์ในการดึงคนเก่งเข้าทำงานได้รับการเปิดเผยจากปากของ Jason Eichenholz ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี Luminar ที่บอกว่า เขาแจ้งกับผู้สมัครถึงรูปแบบการทำงานใน Luminar ว่าเป็นบริษัทที่ให้พนักงานได้ลงลึกในเรื่องงานเสมอ ซึ่งจะทำให้พนักงานได้ประสบการณ์ที่แท้จริงกลับไป ตรงข้ามกับการเข้าทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่จะมีสายงานเฉพาะ และพนักงานก็จะรู้แต่เรื่องที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น

แต่ Luminar ก็ยังมีจุดอ่อนที่น่าสนใจอีกข้อ นั่นคือสถานที่ตั้งของบริษัทที่อยู่ในรีเสิร์ชพาร์ก รัฐออแลนโด ไม่ได้อยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา Tech Company แต่อย่างใด ทว่า Eichenholz ก็ดึงให้มันเป็นจุดแข็งของ Luminar จนได้ เมื่อเขามองว่า การอยู่ที่ออแลนโด พนักงานจะได้สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องไปเช่าห้องเล็ก ๆ กระจุกตัวกันอยู่อย่างแออัดในย่าน Bay Area แบบที่พนักงานบริษัทยักษ์ใหญ่หลายคนทำกัน (เหตุผลจริง ๆ คือไม่มีเงินซื้อที่ดินในย่านดังกล่าว เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงเกินไป)

นอกจากนั้น ออแลนโดยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเลเซอร์ เทคโนโลยีด้านออปติกส์ และเทคโนโลยีด้านโฟโตนิกส์ ที่เหนือกว่าภูมิภาคอื่นใดในสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สตาร์ทอัพหรือบริษัทที่กระจุกตัวอยู่ในออแลนโด คือผู้เชี่ยวชาญด้านออปติกส์เสียเป็นส่วนมาก

จุดขายข้อที่ 3 ของ Luminar ก็คือในช่วงปีแรก ๆ ของการเปิดรับพนักงาน Eichenholz ตัดสินใจมอบบัตรเข้าธีมปาร์กอย่างยูนิเวอร์แซลสตูดิโอแบบ One-Year Family ให้กับพนักงาน เพื่อที่ว่าพนักงานจะได้พาครอบครัวไปเที่ยวเล่นได้ตามใจชอบ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่มีให้เห็นในกูเกิลหรือเฟซบุ๊ก

Eichenholz บอกว่า พนักงานชอบแนวคิดนี้มาก และมันแสดงให้เห็นว่าบริษัทใส่ใจกับครอบครัวของพนักงานที่ย้ายตามมาด้วย ซึ่งในมุมของบริษัท เขาบอกว่า รู้สึกดีกว่าที่พนักงานจะใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่ใช่ทุ่มเททำงานให้บริษัทมากจนเกินไป

จุดขายข้อสุดท้ายที่บริษัทมีให้พนักงานก็คือ เรื่องของสุขภาพ กับการเตรียมอาหารดี ๆ สแน็กมีประโยชน์ หรือเครื่องดื่มสมูธตี้แทนที่จะเป็นน้ำอัดลม นอกจากนั้น ห้องอาหารของบริษัทยังออกแบบให้พนักงานได้นั่งรับประทานร่วมกันได้ทั้งหมด ซึ่งเขาบอกว่า เสียงพนักงานคุยกันในช่วงเที่ยงนั้นดังกระหึ่มมาก และมองว่าเป็นวัฒนธรรมของซิลิคอนวัลเลย์ที่พวกเขาได้ยกมาไว้ที่ออแลนโดด้วยเช่นกัน

การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ของ Luminar เริ่มเห็นผลแล้ว เพราะทุกวันนี้ Luminar แข็งแกร่งพอที่จะไม่ต้องดึงดูดพนักงานด้วยบัตรฟรีเข้าธีมปาร์กอีกต่อไป และกำลังเริ่มต้นเฟส 2 ของการหาคนเข้าทำงาน โดยแผนของ Luminar มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือพาร์ทเนอร์กับสถานศึกษาในออแลนโด ซึ่งพบว่า ในออแลนโดมีนักศึกษาที่อยู่ในรัศมี 100 ไมล์มากถึง 500,000 คน รวมถึงนักศึกษาจาก University of Central Florida ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศด้วย ผลก็คือ Luminar สามารถเตรียมโปรแกรมฝึกงานเพื่อคัดเลือกเพชรเม็ดงามเข้ามาทำงานได้สะดวกขึ้น

ส่วนที่ 2 คือ Luminar กำลังมองหาทีมการตลาด เพื่อนำโปรดักต์ที่พวกเขาผลิตขึ้นออกไปขาย และนั่นรวมถึงการสร้างศูนย์ศิลปะ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ขึ้นในออแลนโด เพื่อให้โครงสร้างเหล่านั้นรองรับการขยายตัวของเมืองที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ได้ทันด้วย