เงินดิจิทัลมาแรงเกินยั้ง

27 May 2018 Technology

การเข้ามาของ cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัลโดยเฉพาะเหรียญสุดฮิต บิทคอยน์ (bitcoin) เริ่มเข้ามาในไทยเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว แรกๆ ไม่มีคนให้ความสนใจมากนัก แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีคนที่กระโดดเข้าร่วมเทรดเพิ่มขึ้นอย่างมาก เราลองมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากที่ crypto ฮิตในบ้านเรา

ฝ่ายกำกับดูแลแตะเบรกเงินดิจิทัล

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าแรกที่ออกประกาศเป็นทางการว่าการค้าขายแลกเปลี่ยนเงินบิทคอยน์ไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ แต่ถ้าใครริเข้าไปเล่นแล้วขาดทุนก็ต้องรับความเสี่ยงเอง

ทว่า เมื่อเงินดิจิทัลบูมขึ้นอย่างรวดเร็วถึงขั้นที่มีหลายรายออกมาขอระดมทุนผ่าน  ICO (initial coins offering) ซึ่งรูปแบบการลงทุนเหมือนกับหุ้น หน่วยงานรัฐจึงตื่นตัวขึ้น โดย คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ (the Securities and Exchange Commission) ออกแถลงการณ์ว่าด้วยความเสี่ยงของ ICO และเร่งมือออกกฎหมายขึ้นเพื่อเข้ามากำกับ ICO ให้เร็วที่สุด

แม้รัฐจะทุ่มสุดตัวเพื่อแตะเบรก แต่ธรรมชาติของการลงทุนนั้นเป็นเรื่องของกำไร ยิ่งสูงก็ยิ่งดึงดูดคน ไม่ว่าความเสี่ยงจะสูงแค่ไหน สุดท้ายกระทรวงการคลังนำโดยอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีก.คลัง ก็ยอมถอย ไม่แบนแล้ว แต่มาออกกฎหมายกำกับดูแลและเก็บภาษีแทน กฎหมายภาษี crypto จึงเป็นฉบับแรกที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ และที่จะตามมาติดๆ คือกฎหมายกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Businesses)

แบงค์ชาติยังไม่เปลี่ยนใจ

แบงค์ชาติยังไม่ยอมถอย โดยหลังจาก รมต. อภิศักดิ์ประกาศเลิกต้าน แบงค์ชาติก็ออกจดหมายเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ไม่ให้ข้องเกี่ยวกับธุรกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับ crypto แม้กระทั่งแค่ให้คำปรึกษาก็ไม่ได้

การเคลื่อนไหวของแบงค์ชาติสร้างความไม่พอใจให้กับเซียนบิทคอยน์อย่างยิ่ง หลังจากสมาคมธนาคารขานรับแบงค์ชาติแล้วทำการยกเลิกบัญชี crypto exchanges ของ coins exchanges firms ทั้งหมด

อนาคต crypto หลังมีกฎหมายรองรับ

แล้วอนาคตของเงินดิจิทัลจะเป็นอย่างไร เมื่อ cryptocurrency ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จากรายงานของ siamblockchain.com กล่าวไว้ว่าอย่างแรกคือการลงทุนใน ICO จะแพร่หลายขึ้นเหมือนการลงทุนในหุ้น ที่ดิน

สตาร์ทอัพก็จะมีโอกาสรอดสูงขึ้น ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพจำนวนมากที่ไปไม่รอด เพราะขาดเงินทุน ต่อไปนี้ก็จะสามารถระดมทุนจาก ICO เพื่อใช้ขยายธุรกิจให้ไปถึงฝันได้ อีกทั้งการโกงเงินในธุรกิจบิทคอยน์ก็ลดลง เพราะมีกฎหมายคุ้มครองนักลงทุน

Technology-Blockchain102

ท้ายที่สุด จากบทความพิเศษโดย Tony Yates ใน Financial Times พูดถึงอนาคตว่าแบงค์ชาติเองอาจต้องออกเริ่มตั้งกองทุนสำรองในรูปของสกุลดิจิทัล และกำหนดนโยบายการเงินดิจิทัลขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการทำงานของตลาดเงินรูปแบบใหม่นี้ เหมือนกับที่ทำอยู่กับระบบการเงินปัจจุบัน เมื่อทำระบบแล้วก็จะควบคุมเงินดิจิทัลไม่ให้มาทำลายระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งแบงค์ชาติในหลายประเทศเองก็เห็นด้วย ถึงแม้แบงค์ชาติไทยวันนี้จะยังอยู่ฝ่ายค้าน แต่วันหน้าคงไม่สามารถต้านกระแสเทคโนโลยีได้


อ้างอิง: Forbes Thailand, Financial Times, Siamblockchain.com และ Bangkok Post