เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตไทยใหญ่อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

14 December 2018 Investment

อีคอมเมิร์ซ -ออนไลน์มีเดีย ดัน เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตไทย ใหญ่อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.94 แสนล้านบาท)ในปี 2561 รองจากอินโดนีเซีย

เบน คิง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของกูเกิล เผยรายงานล่าสุดที่จัดทำโดย Google -Temasek เรื่อง e-Conomy Southeast Asia 2561 ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของมูลค่ารวมจีดีพีไทย ซึ่งใกล้เคียงกับ เกณฑ์เฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ที่ 2.8% ของจีดีพี แน่นอนว่า อินเทอร์เน็ตอีโคโนมีนั้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และจีน จะมีสัดส่วน 6.5% ของจีดีพี ซึ่งในอนาคตคาดว่าไทยจะอยู่ในระดับสัดส่วนใกล้เคียงกัน

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยได้รับอานิสงส์จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 45 ล้านคนในปีนี้ โดยเพิ่มกว่า 7 ล้านรายจากปี 2558 และคนไทยยังใช้เวลามีส่วนร่วมในโลกออนไลน์สูงสุดในโลกกว่า 4.2 ชั่วโมง/วัน

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตปีละ 27% ในช่วงปี 2558-2560 จาก 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 ขยับขึ้นเป็น 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 และเพิ่มเป็น 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รานงานดังกล่าวครอบคลุม 4 หมวดหลัก ทั้งอีคอมเมิร์ซ ออนไลน์มีเดีย ธุรกิจรถยนต์ร่วมโดยสาร และท่องเที่ยวออนไลน์ ใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมวดอีคอมเมิร์ซและออนไลน์มีเดียเติบโตสูงสุด โดยอีคอมเมิร์ซเฉพาะส่วนของค้าปลีกออนไลน์หรือบีทูซี  ประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่สูงสุดอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย และคาดว่าจะมีมูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 เพิ่มจากปี 2561ที่มีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558

การแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเริ่มขยับสู่การทำกำไร และจะมีผู้เล่นรายใหญ่ในแต่ละประเทศ โดย 3 รายหลักในไทย ได้แก่ Lazada Shopee JD Central ส่วนภูมิภาคจะมี Lazada Shopee Tokopedia

ธุรกิจสื่อออนไลน์เป็นหมวดดาวรุ่งที่มาแรง ครอบคลุมเกม เพลง และวิดีโอออนไลน์และโฆษณา ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่อง จาก 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 ก็เติบโตเพิ่มเป็น  2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 และขยับเป็น  7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

สำหรับธุรกิจรถยนต์ร่วมโดยสารมีการเติบโตคงที่ จากการควบรวมกิจการ ทำให้ลดการแข่งขัน รายการส่งเสริมการขาย และผู้เล่นหันมาเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การขยายใ้ห้บริการทางการเงินและปรับสู่การเป็นแพลตฟอร์ม “ซูเปอร์แอป”  อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเข้าของ Go-Jek จะทำให้ตลาดนี้อาจกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ธุรกิจรถยนต์ร่วมขับของไทยจะมีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เติบโต 22% จากปี 2558 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

ธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นตลาดหลักที่มีมูลค่าสูงจากการจองออนไลน์และธุรกิจสายการบินราคาประหยัด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราเติบโตระดับคงที่ โดยจะยังคงมีมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ จากปี 2558 มีมูลค่า 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพรวมสำหรับเอเชียแปซิฟิก อินเทอร์เน็ตอีโคโนมีถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่พร้อมทะยานขึ้นแล้วในปีนี้ เนื่องจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อุปสรรคความท้าทายเดิมนั้นได้ลดลงแล้ว ทั้งเงินทุน บุคลากร ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ระบบการชำระเงิน ธุรกิจและผู้ให้บริการ ต่างพัฒนารูปแบบที่มุ่งทำกำไร และเน้นการหาลูกค้าแบบจงรักภักดีที่อยู่กันยาวๆ (life time value) มากกว่าการเพิ่มลูกค้าจำนวนมาก

รายงานยังได้ปรับประมาณการอินเทอร์เน็ตอีโคโนมีทั้งภูมิภาคที่ 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากได้เพิ่มหมวดย่อย ทั้งเพลงและวิดีโอออนดีมานด์ ในหมวดออนไลน์มีเดีย และการส่งอาหารออนไลน์ ในหมวดธุรกิจร่วมโดยสารขับ

รายงานยังคาดการณ์การจ้างงานทักษะสูงของภูมิภาคว่าจะเพิ่มจาก 100,000 ราย ในปี 2558 เป็น 200,000 รายในปี  2568  มีอัตราการเติบโตจ้างงานแรงงานทักษะ 10%  สูงกว่าการจ้างงานทั่วไปที่มีอัตราเติบโตต่ำกว่า 3% และยังมีเงินเดือนสูงกว่า 3-5 เท่า