GSMA วอนไทยเปิดกว้างไหลเวียนข้อมูลระหว่างประเทศ

13 September 2018 Technology

GSMA ล็อบบี้ไทย เปิดกว้างไหลเวียนข้อมูลระหว่างประเทศก่อนผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นายบอริส วอยแทน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข้อมูลบุคคล สมาคมจีเอ็สเอ็ม (GSMA) วอนขอรัฐบาลไทยได้พิจารณาเพิ่มเติมการอนุญาตให้ข้อมูลไหลระหว่างประเทศ  หรือ Cross Border data flow ในร่างพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ระหว่างกระบวนการนำออกบังคับใช้

โดยเขายังหวังด้วยว่า หากไทยได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า จะเป็นผู้นำการผลักดันให้สร้างกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนที่จะอนุญาตให้ข้อมูลไหลระหว่างประเทศโดยอิสระ เฉกเช่นเดียวกับมาตรฐานทีได้ดำเนินการในเวทีเอเปก

เขาระบุถึงผลการศึกษาจากแมคคินซี่ “Digital Globalisation: The new era of Global flows” ในปี 2016 พบว่ารอบทศวรรษที่ผ่านมา การไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนทำให้จีดีพีของโลกเติบโตขึ้นราวร้อยละ 10.1 หรือคิดเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ผลการศึกษาของจีเอสเอ็มเอเอง พบว่าหากผ่อนคลายการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนจะช่วยสร้างงานกว่า 2.89 ล้านบริษัททั่วโลก เช่น ในฟิลิปปินส์ บริการรับเอาต์ซอร์ส business process outsourcing ที่ได้อานิสงส์จากประสิทธิภาพของการไหลข้อมูลสร้างอุตสาหกรรมได้สูงถึง 25,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

ทั้งยังมีรายงานการศึกษาโดยจีเอสเอ็มเอ ที่พบว่าหากประเทศมีการปิดกั้นการไหลข้อมูลให้เป็นอุปสรรค จะลดจีดีพีอาเซียนลงเฉลี่ยร้อยละ 0.5 -1.7 และพบว่าการจัดเก็บข้อมูลในประเทศเท่านั้น จะสร้างต้นทุนการใช้บริการคลาวด์ให้สูงขึ้นร้อยละ 30-60 ในบราซิลและสหภาพยุโรป

ปัจจุบันยังมีแนวคิดสองขั้ว การสนับสนุนการเปิดเสรีข้อมูล Pro -Flow ที่เน้นส่งเสริมนวัตกรรม และรองรับการใช้งานข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoT) Artificial Intelligence (AI)

ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งคือ No-Flow ที่ให้เก็บข้อมูลในประเทศเท่านั้น เพื่อคุ้มครองข้อมูลประชาชน และความคาดหวังที่จะให้ยักษ์อินเทอร์เน็ตเข้าครอบครองธุรกิจดิจิทัล และกังวลต่อการข่าวที่จะดึงข้อมูลที่กระทบความมั่นคงของประเทศ

เขายกตัวอย่างถึงสหภาพยุโรปที่ออกกฎ GDPR  (General Data Protection Rule) ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับพลเมือง ยังได้ลงนามความร่วมมือกับญี่ปุ่น การอนุญาตให้มีการไหลเวียนข้อมูลระหว่างกันกับประเทศที่มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลระดับเดียวกัน

การที่ไทยเร่งออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะหากยิ่งเคลื่อนไหวช้าเพียงใด ก็จะเสียโอกาสที่ทำให้ประเทศอื่นๆ ทิ้งห่างออกไป