สตาร์ทอัพพุ่งต่อ เล็งเงินลงทุนรวมแตะแสนล้าน

24 May 2018 Startups

กระแสสตาร์ทอัพยังแรงต่อเนื่อง แม้จะล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง แต่ NIA ก็หวังว่าไทยจะขึ้นชั้นเป็นแหล่งลงทุนสตาร์ทอัพของโลกด้วยเงินลงทุนรวมถึงระดับแสนล้านบาทได้ในปีนี้

จากการปลุกปั้นสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่องตลอดสามปีของภาครัฐ พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศ มีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย เพิ่มสิทธิประโยชน์และมาตรการภาษี วันนี้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองเป้าหมายที่น่าลงทุนอันดับหนึ่งในเอเชีย มีจำนวนสตาร์ทอัพที่ประกอบธุรกิจได้จริงเกือบ 2,000 ราย มีโครงการที่ให้ทีมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถจดทะเบียนและจัดตั้งธุรกิจได้กว่า 30 บริษัท

ด้านเงินลงทุนในสตาร์ทอัพโดยองค์กรเอกชน (CVC) มีมูลค่า 35,000 ล้านบาท เงินลงทุนจากภาครัฐ เงินลงทุนของสตาร์ทอัพไทยเองกว่า 60,000 ล้านบาท และ 20,000 ล้านบาท ลงทุนโดย Venture Capitals ทั้งไทยและต่างประเทศ

“ปีนี้ วงการสตาร์ทอัพไทยจะต้องเน้นที่การเป็นประเทศเป้าหมายของเครือข่ายสตาร์ทอัพทั่วโลกเพื่อขยายไปสู่การส่งออก เราไม่ได้มองแค่ในประเทศ” ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เน้นย้ำ

ปัจจุบัน ecosystems ของ NIA มีพันธมิตรกว่า 25 ประเทศ เช่น สวีเดน เยอรมนี ญี่ปุ่น ที่จะช่วยเพิ่มความเป็นนานาชาติให้กับสตาร์ทอัพไทย

ล่าสุด NIA จับมือร่วมกับหน่วยงานรัฐจากเยอรมนี Germany Accelerator South East Asia (GASEA) และ enpact ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ Startup AsiaBerlin (SUAB) เพื่อพัฒนา ecosystem และเพื่อผลักดันไทยไปสู่เวทีโลก เช่น พัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลการตลาดของสองภูมิภาค อาเซียนและยุโรป การพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ระบบนิเวศสตาร์ทอัพระดับเมือง urban ecosystem อำนวยความสะดวกด้านการจัดตั้งบริษัทและการดำเนินธุรกิจทั้งสองฝ่าย

ฝั่งไทยเน้นพัฒนาหลายสาขา เช่น เกษตร อาหาร การเงิน การแพทย์ อุตสาหกรรม ไลฟ์สไตล์ และ urban tech ส่วนเยอรมันสนใจใน urban tech และ Fintech

นอกจากนี้ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย NIA ยังคงเร่งสร้างฐานข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.startupthailand.org ให้เป็นช่องทางสื่อสารเรื่องกิจกรรมการสนับสนุน startup ของ NIA เพื่อให้นำไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจต่อไป

รวมทั้งให้บริการด้านบิ๊กดาต้าที่จะช่วยประมวลผลและวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถอัพเดทตัวเองให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงบริการแหล่งเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม พร้อมเร่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น “สมาร์ทวีซ่า” และมาตรการยกเว้นภาษี ที่จะส่งเสริมให้บุคลากรชั้นนำด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) ให้มีการลงทุนธุรกิจในประเทศไทย

Startup-NIA Infographic