สตาร์ทอัพไทยตบเท้ายื่น 7 ข้อเสนอ ‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘Startup Nation’ เกิดได้จริง

2 November 2018 Startups

600 สตาร์ทอัพไทยรวมตัวยื่น 7 ข้อเสนอแก่รัฐบาลหวังช่วยผลักดัน Startup Nation ให้เกิดขึ้นได้จริง และช่วยให้สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับชาติอื่น โดยมีเป้าหมายสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจร้อยละ 5 ของจีดีพีประเทศไทย เกิดการจ้างงาน 50,000 ตำแหน่ง และเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้ได้อีก 1,000 ราย

โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้กล่าวถึงการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยที่ผ่านมาว่า จากการสนับสนุนของรัฐบาลตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดสตาร์ทอัพมากกว่า 8,500 ราย เกิดการจ้างงานในธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 15,000 ตำแหน่ง เกิดสถานบ่มเพาะ Startupใน 35 มหาวิทยาลัย เกิดการร่วมลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 6,000 ล้านบาท

การเปิดทำเนียบต้อนรับกลุ่มสตาร์ทอัพของนายกรัฐมนตรี ตอกย้ำความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐ นำโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และกลุ่มของสตาร์ทอัพ ประกอบด้วย ผู้แทนสตาร์ทอัพจากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน สมาคมฟินเทคประเทศไทย สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย สมาคมโปรเแกรมเมอร์ไทย ชมรมผู้ประกอบการโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และตัวแทนนิสิต นักศึกษา เยาวชนไทย จาก STARTUP Thailand League รวมประมาณ 600 ราย เข้ายื่นข้อเสนอ 7 ข้อให้คณะรัฐบาลได้พิจารณา

ข้อเสนอทั้ง 7 ประกอบด้วย

1) ความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพ เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น การถือหุ้นในบริษัทของคนต่างด้าว การออกหุ้นให้กับพนักงานของบริษัท (Employee Stock Ownership Plan – ESOP)

2) การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม โดยการออกกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบนวัตกรรมในตลาดก่อนการผลิตจริง (Regulatory Sandbox) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ให้บริการสตาร์ทอัพแบบเบ็ดเสร็จ

3) การตลาดและการขยายธุรกิจของสตาร์ทอัพไปต่างประเทศ โดยการสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐมีการจ้างสตาร์ทอัพ (B2G) เพื่อสร้างตลาด แต่ต้องปรับกระบวนการจัดจ้างให้เหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงให้รัฐช่วยสนับสนุนการต่อยอดธุรกิจไปสู่ประเทศกลุ่ม CLMV และภูมิภาค และขยายธุรกิจในลักษณะ B2B

4) การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมขั้นสูง (Deep Tech Startup) โดยต้องสนับสนุนให้สตาร์ทอัพทำงานร่วมกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย สร้าง cluster ในภาคธุรกิจต่างๆ และพัฒนาปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนา Deep Tech

5) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการระดมทุนของสตาร์ทอัพ โดยการพัฒนานักลงทุนรุ่นใหม่ให้เข้าใจลักษณะธุรกิจของสตาร์ทอัพ และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องผ่านการพัฒนากองทุน ทั้ง Matching Fund และ Impact Fund และสร้างเครือข่ายนักลงทุนกับสตาร์ทอัพ

6) การสร้างสังคมผู้ประกอบการ เพื่อให้เด็กและสตาร์ทอัพได้พบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากสตาร์ทอัพด้วยกัน โดยการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดสังคมผู้ประกอบการ

7) การดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูงสำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาสตาร์ทอัพ ซึ่งรัฐบาลสามารถสนับสนุนผ่านการลงทุนในการฝึกอบรมและการศึกษาได้

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเผยว่า มีหลายด้านที่สตาร์ทอัพไทยต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อให้ขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น และหากประเทศไทยต้องการส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้เติบโต ก็ต้องสนับสนุนให้เกิดนักลงทุน

จากทั้ง 7 ข้อเสนอนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้สึกยินดี เพราะได้เห็นความตื่นตัวของกลุ่มสตาร์ทอัพ และมองว่าเป็นโอกาสที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นายกฯ ได้ชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทต่างๆ จะเป็นโอกาสที่ดีของสตาร์ทอัพที่จะเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยรัฐบาลยินดีช่วยเหลือและสนับสนุนในประเด็นที่เสนอมาอย่างเต็มที่ตามกรอบแนวทางที่สามารถทำได้ โดยจะให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการจัดตั้งศูนย์ One Stop Service การแก้หรือปรับปรุงกฎหมาย หรือเรื่องกองทุนสตาร์ทอัพ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินงานไปแล้วหลายเรื่อง เช่น การพัฒนา Smart VISA อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงไม่สามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้เพียงลำพัง ต้องทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างท้าทาย

Startup pm9
Startup pm1
Startup pm2
Startup pm3
Startup pm4
Startup pm5
Startup pm6
Startup pm7
Startup pm8
Startup pm10
Startup pm11
Startup pm12
Startup pm13
Startup pm14
Startup pm15
Startup pm16
Startup pm17
previous arrow
next arrow