Flexible Workspace เทรนด์พื้นที่ทำงานใหม่ ตอบรับกระแสธุรกิจสตาร์ทอัพ

11 May 2018 Lifestyle

ฉากกั้นที่ถูกจัดเป็นบล็อกๆ ล้อมพื้นที่สี่เหลี่ยม ที่บรรจุโต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ เก้าอี้ น่าจะเป็นภาพสำนักงานเดิมๆ ที่อาจจะดูซ้ำซาก จำเจ บางครั้งนำมาซึ่งบรรยากาศที่ขาดแรงบันดาลใจของคนทำงาน

Flexible Workspace หรือพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น จึงเป็นอีกทางเลือกใหม่ให้กับบริษัท องค์กรต่างๆ หรือกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ ด้วยสไตล์การดีไซน์ซิคๆ เก๋ๆ โปร่งโล่ง สบาย สร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน และสามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ที่ไม่เพียงแค่สอดรับกับกระแสของธุรกิจสตาร์ทอัพ และพฤติกรรมของคนทำงานยุคปัจจุบัน แต่ยังสามารถตอบโจทย์ด้านต้นทุนของบริษัทอีกทางหนึ่ง ค่าใช้จ่ายมหาศาลสำหรับการเช่าอาคารสำนักงานอย่างถาวรอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป สามารถกำหนดระยะเช่าสั้น กลาง ยาว ได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ

จากการสำรวจและจัดทำรายงานเกี่ยวกับให้บริการ Flexible Workspace  ของ Colliers International ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ระบุว่า Flexible Workspace เป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรงมากในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยปีที่ผ่านมา มีผู้ให้บริการผุดขึ้นมากมายและขยายตัวในเมืองใหญ่ๆ อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โตเกียว ฮ่องกง สิงคโปร์ โซล เมลเบิร์น และซิดนีย์ โดยระยะสั้นคาดว่าจะมีจำนวนบริษัทข้ามชาติหันมาใช้ Flexible Workspace สำหรับแผนกงานเฉพาะด้านมากขึ้น เช่น ทีมดิจิทัล นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นต้น

เมื่อเร็วๆนี้ HSBC ตัดสินใจเช่าพื้นที่ 400 โต๊ะของ WeWork ในอาคาร 535 ที่ฮ่องกง ให้ทีมดิจิทัลใช้ ขณะที่ EY หรือ Ernst & Young บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ ก็ย้ายทีมงานในซิดนีย์มาทำงานในพื้นที่ เป็นลักษณะการทำงานที่มีหลากหลายธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องและทำงานร่วมกันหรือที่เรียกว่า “Coworking”

สอดคล้องกับ Peter Black ผู้อำนวยการกลยุทธ์และการออกแบบสถานที่ทำงาน Colliers International Australia กล่าวว่า ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจต่างต้องการลดการใช้พื้นที่ทำงาน โดยมองการใช้งานในส่วนของ Core Space หรือพื้นที่หลักเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิผล สำหรับ Flexible Space จัดไว้รองรับงานตามความต้องการ ไม่ว่าจะทำโปรเจกต์ ประชุมประจำเดือน  พื้นที่พบปะที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี หรือเป็นพื้นที่สำหรับบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ที่มักจะถูกจัดพื้นให้อยู่ในอาคารเดียวกัน สามารถบริหารจัดการเช่าจองเป็นรายชั่วโมง รายวัน หรือระยะยาวได้

เทรนด์ที่มาแรง ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่เริ่มผันมาทำ Flexible Workspace กันมากขึ้น อาทิ Verizon ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกา จับมือกับ Grind ผู้ให้บริการ Coworking ปรับโฉมพื้นที่ 10,000 ตารางฟุตที่ไม่ค่อยได้ใช้งานในสำนักงานใหญ่ที่แมนฮัตตันมาเป็น Flexible Workspace สำหรับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการทั่วไปเช่าใช้ รวมไปถึงการใช้พื้นที่ของผู้ให้บริการก็เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ปัจจุบัน ผู้ให้บริการอย่าง WeWork, JustCo, The Working Capitol, URwork และ naked Hub มองหาพื้นที่ขนาดอย่างต่ำ 40,000 ตารางฟุตเพื่อต้องการเปิดสาขาใหม่

อย่างไรก็ตาม เทรนด์นี้ถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับเจ้าของอาคารสำนักงานเกรด B และเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกที่ทุกวันนี้เริ่มเป็นธุรกิจอิ่มตัว ล่าสุด CapitaLand ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์เซ็นสัญญากับ URwork ให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าของ CapitaLand เพื่อให้บริการ Flexible Workspace เช่นกัน

ด้าน สัญชัย คูเอกชัย รองกรรมการผู้จัดการ Colliers International Thailand  กล่าวถึงตลาดพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราพื้นที่ว่างต่ำกว่าร้อยละ 10 มาโดยตลอด อัตราค่าเช่าจึงขยับสูงขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นับเป็นอุปสรรคของกลุ่มสตาร์ทอัพหรือธุรกิจเอสเอ็มอี

กระแสความนิยม Flexible Workspace ในประเทศไทยกำลังตามกระแสโลก ในปี 2016 Regus เป็นผู้ให้บริการที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด โดยได้เพิ่มพื้นที่กว่า 20,000 ตารางฟุตในอาคาร AIA Capital และ 10,000 ตารางฟุต ในอาคาร SJ Infinite ขณะที่ผู้ให้บริการท้องถิ่น Glowfish ได้เช่าพื้นที่ 10,000 ตารางฟุตในศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์

ปี 2017 ผู้ให้บริการ Flexible Workspace หลายรายในประเทศไทยยังคงเดินหน้าขยายพื้นที่ในทำเลใหม่ๆ และรูปแบบใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบพันธมิตร โดยมีพื้นที่ขนาดใหญ่รอเปิดเพิ่ม ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้ โดยคาดว่า Flexible Workspace จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะคอนเซ็ปต์ที่ทำงานทางเลือกใหม่ในกรุงเทพฯ


อ้างอิง: Forbes Thailand