อยากสร้างสตาร์ทอัพ เราต้องสร้าง tech talent ก่อน

30 May 2018 Startups

สำหรับวงการพลังงานไฟฟ้า การใช้นวัตกรรมมาช่วยสร้างประสิทธิภาพการผลิตไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ก็ร่วมผลักดันสตาร์ทอัพที่คิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของ กฟผ. มาโดยตลอด แต่การที่จะทำให้เกิด Startup ที่สามารถสนองตอบภารกิจของ กฟผ. ได้ สิ่งสำคัญคือเรื่องของคน

“เราต้องสร้างคน สร้าง tech talent หากไม่มี tech talent เราจะมี startup เก่งๆ ได้อย่างไร” ดร.สมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. Dr. Somchai Chokmaviroj, assistant director of Renewable and New Energy Research and Business Development Division, Electricity Generating Authority of Thailand (EGAT) มาร่วมเผยวิสัยทัศน์

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของการทำธุรกิจ กฟผ.จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาพัฒนา เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรเพื่อให้ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าสามารถแข่งขันและเดินหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“หัวใจของการสร้างเทคโนโลยีที่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการสร้างคน” ดร. สมชาย กล่าวถึงการร่วมมือกับสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ในการพัฒนาสตาร์ทอัพ ภายใต้นโยบายของรัฐบาล Thailand 4.0 ที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย

“เราต้องหานวัตกร เพื่อให้ได้นวัตกรรม กองทัพ Startup เราเชื่อว่าเป็นนวัตกรที่มีความสำคัญของระดับประเทศ และการจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 ได้นี้ ต้องสร้างคนเป็นอันดับแรก การที่เราสนับสนุนงาน STARTUP THAILAND  2018 ที่จริงแล้วเป็นภารกิจสร้างคนเพื่อสร้างชาติ”

ทางคณะผู้บริหารให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างมาก เพราะมั่นใจว่าพวกเขาเป็นผู้มาช่วยนำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น และครั้งนี้เอง กฟผ.อยากมีส่วนร่วมผลักดันและสนับสนุนสตาร์ทอัพทั้งที่เป็นเยาวชนและประชาชนทั่วไป

“Startup ใกล้ชิดกับคนมากกว่าองค์กรใหญ่ๆ เขาจะช่วยเราคิดหาไอเดียที่สนองความต้องการแท้จริงของผู้บริโภคได้ดีกว่าเรา และเมื่อเราได้ไอเดีย มาแล้วก็ผลิต prototype ขึ้นมาทดสอบตลาด ไม่ใช่แค่ตลาดไทย แต่เรามองทั่วอาเซียน ทั่วโลก”

ดร. สมชายมองว่าการจะนำสตาร์ทอัพมาช่วยงานได้ เราต้องทุ่มความช่วยเหลือให้มากพอ และหากสตาร์ทอัพเกิดได้ ก็จะคุ้มค่า เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาองค์ความรู้ของ กฟผ. มีถึง 6 ด้าน ได้แก่

  • นวัตกรรมทดแทนการนำเข้าของวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ หาก สตาร์ทอัพสามารถปลดล็อกนี้ได้ เราก็จะสามารถพัฒนาประเทศจากที่เคยผู้ซื้อมาเป็นผู้ผลิตได้
  • หานวัตกรรมที่ช่วยให้คนใช้ไฟฟ้าของเราตอนกลางวันมากขึ้นแต่ลดการใช้ไฟช่วงกลางคืนลง เพราะขณะนี้ พลังงานโซลาร์มาช่วยทดแทนไฟฟ้าจาก กฟผ. ได้ในตอนกลางวัน แต่กลางคืนยังทำไม่ได้ โรงไฟฟ้าเราจึง peak load มากเฉพาะกลางคืน การใช้กำลังการผลิตขาดความสมดุลย์ทำให้ต้นทุนสูง
  • หาทางทำให้พลังงานทดแทนใหม่ๆ สามารถผลิตเชิงพาณิยช์ได้ เช่นพลังงานจากไฮโดรเจน ที่ยังไม่ commercial กฟผ.เชื่อว่าไอเดียจากเยาวชนไทยสามารถช่วยได้
  • เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้า เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ค่าไฟก็จะถูกลง
  • การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หานวัตกรรมที่ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าปล่อยมลพิษน้อยลงหรือเป็นศูนย์
  • นวัตกรรมช่วยพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้มีชีวิตดีขึ้นและอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้อย่างเป็นสุข