หลักสูตรการศึกษาด้านเทคไทยต้องปรับปรุง

25 May 2018 Lifestyle

ถึงแม้เราจะเห็นเด็กไทยสไลด์จอมือถือกันทั้งวัน นั่นไม่ได้หมายความว่าอนาคตของชาติมีทักษะด้านเทคโนโลยี ทีดีอาร์ไอ ชี้ ความจริงนั้นตรงกันข้าม ทักษะของเด็กไทยโดยเฉลี่ยในด้านดิจิทัลยังอ่อนเกินไป

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง “การสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย: จากปริมาณสู่คุณภาพ” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าภาครัฐควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อปรับปรุงหลักสูตรด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของไทยเสียใหม่

เราควรมีการสร้างคอร์สการศึกษาเรื่อง Internet of Things big data และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมถึงการใช้งาน cloud computing และควรเป็นหลักสูตรที่เข้มข้น

จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอร่วมกับหน่วยงานด้านดิจิทัลของรัฐ พบว่าภาคธุรกิจไอซีทีของไทยกำลังเดือดร้อนจากภาวะขาดแคลนผู้ที่มีทักษะด้านไอซีที หรือ tech talent อย่างหนัก

ที่สำคัญ การศึกษายังพบว่าคุณภาพหลักสูตรไอซีทีที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชมงคล เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาความอ่อนของหลักสูตรไทย เนื่องจากเรามีหลักสูตรไอซีทีสอนในเกือบทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่คุณภาพไม่ถึงมาตรฐานที่ควร มีความล้าสมัย และไม่สามารถปรับใช้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

ทีดีอาร์ไอพบว่ามีผู้จบการศึกษาด้านไอซีทีประมาณ 20,000 คนในปีที่ผ่านมา แต่ประมาณ 7,000 คนในทั้งหมดที่จบการศึกษากลับหางานทำไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องไปทำงานในสาขาอื่น ทั้งๆ ที่ตลาดแรงงานสำหรับทักษะไอซีทียังขาดแคลนอยู่ร่วม 14,000 คน

ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอสอดคล้องกับผลสำรวจของ ecommerceIQ ซึ่งเป็น search portal ด้านอีคอมเมิร์ซ ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ประสบปัญหาการขาดแคลน tech talent อย่างหนักเช่นกัน

ดังนั้น ภาครัฐเองต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เหล่านี้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ อีกทั้งควรสนับสนุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์การศึกษาอย่างจริงจัง

เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงได้แก่ IoT big data AI cloud ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้

ในปีที่แล้ว มีคนทำงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับไอซีทีอยู่ราว 268,000 คน ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 35 เป็นคนทำงานด้านเทคนิค เป็นผู้เชี่ยวชาญอีกประมาณร้อยละ 31 ที่เหลืออยู่ในสาขาการขาย การตลาด และงานด้านมัลติมีเดีย


อ้างอิง: Bangkok Post และ ecommerceIQ