“เทคมีทัวร์” เสริมทัพเอไอสู่แพลตฟอร์มท่องเที่ยวครบวงจร

30 June 2018 Lifestyle

Take Me Tour สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวในฐานะผู้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับนำเสนอทริปท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่นที่รู้จริงให้ได้พบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เผยเตรียมขยายธุรกิจให้ครบวงจรมากขึ้นแล้ว

นพพล อนุกูลวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง Take Me Tour เผยว่า ในปีนี้จะขยายธุรกิจจากวันเดย์ทัวร์ไปสู่บริการแบบครบวงจรมากขึ้น เช่น มีบริการรับ-ส่งจากสนามบิน, มีบริการขายตั๋วสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ, มีบริการขนกระเป๋าจากสนามบินไปยังที่พัก ฯลฯ เพิ่มเติมเข้ามาในแพลตฟอร์ม โดยมองว่าจะทำให้แพลตฟอร์มมีความแข็งแกร่ง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

“ทุกวันนี้ การท่องเที่ยวไทยโตมาก แต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เปลี่ยนไปเยอะ จากเดิมเขาจะแพลนล่วงหน้านานๆ หรือใช้เอเจนซีช่วยวางแผน แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก เช่น เราพบว่ามีการจองแบบ Last Minute (จองวันนี้ไปพรุ่งนี้) เกิดบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เอื้ออำนวย จากเดิมที่นักท่องเที่ยวต้องเปิดโรมมิ่ง แถมค่าใช้จ่ายก็แพง เดี๋ยวนี้มีซิมที่เปิดโรมมิ่งล้วนถูกมากให้เลือกเต็มไปหมด หรือจะมาหาซื้อที่ปลายทางก็ได้

นอกจากนั้น ข้อมูลการท่องเที่ยวก็หาง่ายมากขึ้น บางทีตอนกลางคืนกลับเข้าโรงแรมค่อยหาทริปของวันพรุ่งนี้ก็มี เพราะฉะนั้นการมีแพลตฟอร์มไว้รองรับ มันจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้”

โดยยอดการเติบโตของแพลตฟอร์มนั้น นพพลระบุว่าไม่ได้มีการเก็บเป็น Active Users แบบแพลตฟอร์มอื่น แต่เป็นตัวเลขการซื้อทริปจริงบน Take Me Tour ที่ในปี 2560 นั้นอยู่ที่หมื่นกว่าครั้ง คิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่แค่หลักพันเท่านั้น

สำหรับตัวเลขคาดการณ์ในปี 2561 นั้น นพพลคาดไว้ที่ 50,000 ครั้ง พร้อมระบุว่า การแข่งขันหลังจากนี้จะรุนแรงมากขึ้น เพราะธุรกิจมีการขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ญี่ปุ่น ฯลฯ มากขึ้น และในประเทศเหล่านั้นก็มีผู้เล่นเดิมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ดังนั้นการแข่งขันจึงเป็นระดับโกลบอล ไม่ใช่แค่โลคอลอีกต่อไป

จากประสบการณ์ 4 ปี นพพลเผยว่า Take Me Tour มีความท้าทายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในระยะเริ่มต้นอาจเป็นเรื่องของภาษา ที่ไกด์ท้องถิ่นอาจไม่สามารถสื่อสารได้ ก็มีการรื้อระบบแก้ไขกันใหม่ เพื่อไม่ให้กรณีนี้กลับมาสร้างความยุ่งยากให้กับแพลตฟอร์มอีก หรือกรณีการแคนเซิลงานของไกด์แบบกะทันหัน การนัดจุดพบกันผิดพลาด ก็เป็นกรณีที่ให้ต้องแก้กันมาแล้ว

“สำหรับปัญหาที่พบจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยต้องยอมรับว่าเป็นการบริหารจัดการของทีมงานเองที่เมื่อเจอปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะมีการจัดการกับปัญหานั้นๆ อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่ตอนนี้ปัญหาที่ท้าทายเราอย่างมากไม่ใช่เรื่องโอเปอเรชันอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ว่าทำอย่างไรเราจึงจะรู้ใจนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวมีเวลาไม่เยอะ เวลาที่เขาจะตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างก็ต้องเป็นสิ่งที่มันใช่ที่สุด แต่ด้วยความที่เรามีตัวเลือกเยอะ ทำอย่างไรเราจึงจะเสนอทริปที่ตรงกับความชอบความต้องการของเขาได้”

โดยนพพลเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำบิ๊กดาต้าและเอไอมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยในการคัดกรองทริปที่นักท่องเที่ยวแต่ละชาติน่าจะสนใจออกมานั่นเอง