คดีแอปสโตร์เสี่ยงถูกควบคุมราคา ทำหุ้นแอปเปิลร่วงหนัก

30 November 2018 Technology

ศาลสูงสุดสหรัฐ มีแนวโน้มว่าจะเห็นด้วยกับผู้บริโภคที่ร้องเรียนแอปเปิลว่ามีการผูกขาด และทำให้ราคาแอปพลิเคชันในแอปสโตร์มีราคาสูงเกินไป โดยหากเป็นเช่นนั้นจริง นี่จะเป็นคดีที่ทำให้อำนาจศาลก้าวลงมาดิสรัปต์ตลาดกลางสำหรับขายซอฟต์แวร์ของแอปเปิล รวมถึงอาจทำให้บริษัทต้องสูญเงินนับล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจ่ายค่าปรับด้วย

เห็นได้จากราคาหุ้นของแอปเปิลที่ตกลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันก่อนจะตีตื้นกลับมาได้บ้าง ซึ่งหลายสำนักข่าวมองว่านี่คือเดือนที่เลวร้ายที่สุดของแอปเปิลเลยทีเดียว เพราะแอปเปิลไม่ได้มีเฉพาะคดีนี้ แต่ประเด็นเรื่องยอดขายไอโฟนที่ไม่กระเตื้องก็น่าเป็นห่วงสำหรับนักลงทุนมากๆ เช่นกัน

โดยรายงานจาก CNBC ระบุว่า ผู้พิพากษาหลายคนที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมแสดงความเห็นใจในข้อโต้แย้งของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเจ้าของไอโฟนที่นำเรื่องนี้เข้ามาฟ้องศาล เช่น แซมมวล อลิโต (Samuel Alito) และเนล กอร์ซัส (Neil Gorsuch) ที่ถึงกับเอ่ยว่า จะย้อนกลับไปดูคำพิพากษาของศาลฎีกาที่แอปเปิลยกขึ้นมาโต้แย้งเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี การแสดงท่าทางของผู้พิพากษาไม่อาจนำมาใช้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า คำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาสูงสุดของศาลสูงสุดสหรัฐอย่างผู้พิพากษาจอห์น โรเบิร์ต

สิ่งที่ทำให้เกิดคดีนี้ขึ้น มาจากเจ้าของไอโฟนรายหนึ่งมองว่า ค่าคอมมิชชั่นที่แอปเปิลเรียกเก็บจากนักพัฒนาในกรณีที่แอปฯ ได้รับการดาวน์โหลดนั้น ทำให้นักพัฒนาต้องไปตั้งราคาแอปฯ เพิ่ม และผลักภาระนี้ให้ผู้บริโภค อีกทั้งการที่แอปเปิลไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ไอโฟนเลือกซื้อซอฟต์แวร์จากตลาดกลางอื่นๆ ทำให้บริษัทสามารถคิดค่าคอมมิชชั่นได้แพงๆ ซึ่งมองได้ว่านี่คือการผูกขาดลักษณะหนึ่งนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 1977 ศาลสูงสุดสหรัฐเคยมีคำพิพากษาเรื่อง “Illinois brick doctrine” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ผู้บริโภคซื้อตรงสินค้าจากผู้ขาย ว่าผู้ซื้อตรงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหากมีการผูกขาด แต่ผู้ซื้อทางอ้อม (Indirect Purchasers) จะไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตรงนี้

โดยสิ่งที่แอปเปิลพยายามโต้แย้งคือ บริษัทนั้นทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายระหว่างนักพัฒนากับผู้ใช้ไอโฟนต่างหาก เพราะฝ่ายนักพัฒนาทำหน้าที่กำหนดราคาเอง ไม่ใช่แอปเปิลไปกำหนดราคาให้เสียหน่อย การซื้อแอปฯ บนแอปสโตร์จึงไม่ใช่การที่ผู้บริโภคมาซื้อตรงกับแอปเปิล

ด้านผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมอย่างเอลีนา คาแกน (Elena Kagan) กล่าวว่า การที่เธอหยิบไอโฟนขึ้นมา เข้าไปที่แอปสโตร์ และจ่ายเงินให้กับแอปเปิลด้วยบัตรเครดิตนั้น ทำให้เธอรู้สึกว่า เธอกำลังทำธุรกรรมกับแอปเปิล ไม่ใช่กับนักพัฒนาเจ้าของแอปฯ แต่อย่างใด

ส่วนอลิโตมองว่า ทฤษฎี Illinois Brick นั้นอาจใช้ไม่ได้แล้วกับสภาพตลาดในปัจจุบัน และการที่มีผู้ซื้อตรงกับแพลตฟอร์มออกมาฟ้องร้องกับแพลตฟอร์มนั้น ก็เป็นฐานะที่เหมาะสมที่สามารถทำได้แล้ว

“เรามองคดีนี้แล้วอยากถามว่า มีนักพัฒนาแอปฯ คนไหนบ้างที่อยู่ในเวลาที่แอปฯ ของพวกเขาถูกขายอยู่บนแอปสโตร์”

ด้านผู้พิพากษา แบรตต์ คาวานอฟ (Brett Kavanaugh) กล่าวว่า ไม่ว่าอย่างไร กรณีนี้ผู้บริโภคก็ตกเป็นเหยื่อ เช่นเดียวกับผู้พัฒนาแอปฯ พร้อมกับบอกไปยังทนายความโนเอล ฟรานซิสโก ผู้สนับสนุนแอปเปิลว่า คำว่า Illinois Brick กำลังสร้างความสับสน และอาจต้องตีความว่า Illinois Brick ในบริบทของวันนี้มีความหมายว่าอะไร และการจะแก้ปัญหาอาจต้องมองภาพรวมว่า มีใครที่ได้รับผลกระทบบ้าง

ส่วนผู้พิพากษาคลาเรนซ์ โธมัสไม่ออกความเห็นใด ๆ

ทั้งนี้ หากมีการเข้ามากำกับดูแลแอปสโตร์จริง จะเกิดผลต่อเนื่องไปยังหลายแพลตฟอร์มเพื่อนบ้าน เช่น อีเบย์ เฟซบุ๊ก อเมซอน และกูเกิล ที่ล้วนทำตัวเป็นมาร์เก็ตเพลสเช่นกัน โดยศาลคาดว่าจะมีคำพิพากษาในเดือนมิถุนายนนี้

อ้างอิง: CNBC