ผลวิจัยชี้ เฟซบุ๊ก-กูเกิล เสี่ยงละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งาน

12 October 2018 Technology

แม้ว่าภาพของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กที่ออกมาแถลงถึงการให้บริการของเฟซบุ๊กต่อหน้านักกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะเป็นภาพที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกว่าทางแพลตฟอร์มมีความจริงใจและโปร่งใส แต่จากการศึกษาของกลุ่มเฝ้าระวังในนอร์เวย์กลุ่มหนึ่งก็ยังพบว่า บริษัทอย่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล มีนโยบายบางอย่างที่ส่งผลเสียต่อผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในด้านความเป็นส่วนตัว

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ข้อมูลชิ้นนี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมานำเสนอเนื่องจากการมาถึงของกฎหมายใหม่อย่าง GDPR โดยรายงานของกลุ่มเฝ้าระวังพบว่า การประกาศว่าผู้ใช้งานสามารถควบคุมข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาได้นั้นเป็นเรื่องลวงตา และมีการจำกัดทางเลือกเตรียมเอาไว้แล้ว หรือก็คือ สิ่งที่บริษัทเหล่านั้นทำออกมานั้นเป็นเพียงการสร้างภาพว่าพวกเขาทำตามโจทย์ที่ GDPR ระบุ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากพฤติการณ์เบื้องหลังแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังมีการกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ใช้งานของตัวเองอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเฝ้าระวังพบว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก กูเกิล และไมโครซอฟท์ได้มีป๊อปอัปเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลปรากฏขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม แต่นักวิจัยมองว่านั่นคือ “ดาร์คแพทเทิร์น” ที่ทำขึ้นเพื่อโน้มน้าวผู้ใช้งานให้เข้ามาเลือกออปชันด้านความเป็นส่วนตัวที่ไม่เป็นส่วนตัวจริง ตัวอย่างเช่น กระบวนการในการตั้งค่าด้านความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กและกูเกิลนั้น สามารถถูกยกเลิกได้โดยง่าย ซึ่งถ้าผู้ใช้งานไม่ตรวจสอบดูให้ดีก็จะไม่ทราบเลย อีกทั้งยังสวนทางกับภาพอินโฟกราฟิกที่เฟซบุ๊กทำออกมา ที่ทำให้ดูว่าเป็นเรื่องง่าย คลิกไม่เกิน 5 ครั้งก็ตั้งค่าได้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในความเป็นจริง เพื่อให้ออปชันเหล่านั้นทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ผู้ใช้งานอาจจะต้องคลิกถึง 13 ครั้ง ความน่าสนใจอีกข้อคือ บริษัทเหล่านี้เป็นผู้กำหนดให้ว่า ป๊อปอัปดังกล่าวจะปรากฏขึ้นมาเมื่อใด หาใช่ความต้องการของฝั่งผู้ใช้งานไม่

นอกจากนั้น ในการเลือกออปชันต่างๆ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว เช่น ยกเลิกการทำงานของระบบ Face Recognition ก็จะมีข้อความจากแพลตฟอร์มตามมาว่า “หากมีบุคคลไม่น่าไว้ใจนำภาพของคุณไปใช้ เราจะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยตรวจจับได้นะ” ซึ่งเป็นข้อความที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้งาน และบางคนอาจตัดสินใจที่จะปล่อยให้ฟังก์ชันนี้ทำงานได้ต่อไป ซึ่งในจุดนี้ ทางกลุ่มเฝ้าระวังมองว่าเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว และเป็นด้านที่เป็นประโยชน์ต่อแพลตฟอร์มนั่นเอง หรือการยกเลิกบริการ เช่น Ad Targeting ของกูเกิลก็เช่นกัน ที่จะมีคำเตือนขึ้นมาว่า คุณจะไม่สามารถปิดเสียงโฆษณาบางตัวได้อีก ซึ่งผู้ใช้งานที่ไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของระบบก็อาจตัดสินใจไม่ปิดการทำงาน ส่วนไมโครซอฟท์ ผลวิจัยจากกลุ่มเฝ้าระวังค่อนข้างชื่นชม กับการมีตัวเลือกที่สมเหตุสมผล และไม่มีการใช้คำพูดที่สร้างความตระหนก หรือโน้มน้าวผู้ใช้งานแบบที่แพลตฟอร์มอื่นๆ ทำ

บทสรุปสุดท้ายจึงอาจเป็นว่า การใช้งานแพลตฟอร์มที่ทำรายได้จากข้อมูลส่วนตัวนั้น แม้จะมีข้อความว่า “You’re in control,” ปรากฏขึ้นแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง มันอาจเป็นแค่เทคนิคหลอกล่อทั่วๆ ไป และอาจเป็นการควบคุมได้ที่อยู่ภายใต้ “การวางแผนของแพลตฟอร์ม” อีกที เพื่อให้พวกเขายังสามารถทำเงินจากข้อมูลส่วนบุคคลได้ต่อไปนั่นเอง


อ้างอิง: Techcrunch.com