“สตาร์ทอัพ เนชั่น” ฝันให้ไกลไปให้ถึง

3 July 2018 Startups

ปลดล็อกกฎหมาย แจ้งเกิด centaur ดูดการลงทุนขนาดใหญ่ ผนึกองค์กรยักษ์ ผนวกฐานลูกค้า ดันไทยสู่สตาร์อัพเนชั่น

ความพยายามของไทยที่จะเป็น “สตาร์ทอัพ เนชั่น” ที่จะสร้างนักรบเศรษฐกิจผลักดันนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในการเข้าสู่ไทยแลนด์​ 4.0  ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐได้จุดพลุ สร้างกระแสให้ความสนใจกับคนรุ่นใหม่ที่จะทำสตาร์ทอัพ การมี co-working space accelerator  corporate venture capital (CVC) และการแจ้งเกิดนโยบายสมาร์ทวีซ่าที่ช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้กับสตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็มส์

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจากนี้ไป จะต้องทำให้เร็วได้จริงและทลายปราการที่ยังเป็นอุปสรรคต่อแวดวงสตาร์ทอัพไทย เพื่อให้ประเทศขึ้นเป็นหนึ่งใน “แถวหน้า” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะหากทำได้ “ช้า” เราจะเสีย “จังหวะ” จนอาจทำให้ประเทศอื่นแซงเราไปได้

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่าเป้าหมายของการสร้างสตาร์ทอัพไทยจะขยายขอบเขตไปสู่ระดับโลกให้นักลงทุน สตาร์ทอัพ เข้ามาขยายความร่วมมือ ร่วมลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานของวงการสตาร์ทอัพให้ไทยเป็น Global Startup Destination

กอปรกับพื้นฐานของไทยเอง มีศักยภาพที่ดึงดูดต่างชาติ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดที่น่าเข้ามาจัดตั้งสตาร์ทอัพในเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของโลก

ปัจจุบัน ไทยมีสตาร์ทอัพจำนวนกว่า 2,400 ราย ที่จะเร่งผลักดันให้เติบโต ทั้งสามารถจัดตั้งบริษัทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และก้าวสู่สตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์น หรือมีมูลค่าธุรกิจระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งจะเร่งพัฒนาเกณฑ์การสนับสนุนให้ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้กฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นภายในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมที่จำกัด (National Regulatory Sandbox)  รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เปิดทางให้ภาครัฐ สามารถจัดซื้อสินค้าบริการจากสตาร์ทอัพได้ เพื่อสร้างตลาดในประเทศ

เอ็นไอเอคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถนำเสนอร่าง พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ ที่จะช่วยเอื้อต่อการลงทุนตั้งบริษัทในไทยอีกด้วย

“ไทย” หนึ่งดาวเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระทิง พูนผล ผู้จัดการกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากจำนวนประชากร ผู้ใช้มือถือ  และจำนวนสตาร์ทอัพ  และสัญญาณบวกจำนวน คอร์ปอร์เรท เวอร์เจอร์ แคปติอล หรือซีวีซี ที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายวงการ

ถึงกระนั้นก็ตาม ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ยังเป็นโมเดล “copy cat” คือเมื่อเห็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่น ก็นำมาใช้ในไทย ซึ่งต่อจากนี้อาจจะไม่เพียงพอแล้ว สตาร์ทอัพจะต้องสร้างสรรค์มากขึ้น และเข้าสู่การใช้งานวิจัยพัฒนาที่เป็นระดับ Deep Technology หากสามารถเพิ่มปริมาณได้มากเพียงพอ จะทำให้ไทยเป็น Innovation Hub Destination ได้

ดันแจ้งเกิดสตาร์ทอัพระดับ Centaurs

นอกจากนั้น คุณกระทิงมองว่า ไทยจะต้องทลาย “คอขวด” ที่สตาร์ทอัพไทยส่วนมากอยู่ในระดับ เริ่มต้นกิจการ Seed ไม่เกินล้านดอลลาร์สหรัฐ และ  Series A ที่ไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากเราสามารถสร้างสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าระดับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ที่เป็น Centaurs เพื่อเป็นโชว์เคสให้กับสตาร์ทอัพอื่นๆ และดึงดูดกองทุนขนาดใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจะเห็นว่าได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งดีลระดับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้เองจะทำให้วงการสตาร์ทอัพเติบโตแบบทะยานขึ้น

ที่ผ่านมา ไทยมีวีซีไหลเข้ามาลงทุนเติบโตทุกปี โดยปีที่แล้ว สตาร์ทอัพไทยได้รับเงินทุน 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 22.7 จากปี 2559  อยู่ที่ 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระนั้น ไทยต้องเร่งเครื่องพัฒนาสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศภายใน โดยเฉพาะภาครัฐที่กำหนดนโยบายสนับสนุนมาเป็นอย่างดีอย่างสมาร์ทวีซ่า เหลือเพียงแค่การ execution ให้รวดเร็ว

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังดึงดูดการลงทุนวีซีได้อีกมาก จากสถิติเม็ดเงินการลงทุน จะพบว่าปี 2560 การลงทุนสตาร์ทอัพทั่วโลกเริ่มลดลง เทียบกับภูมิภาคนี้ที่ยังเติบโต โดยดึงดูดการลงทุน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 365 ดีล เพิ่มจากปี 2557 ที่อยู่ที่  1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 313 ดีล ดีลขนาดใหญ่ช่วงปี 2558-2560 การลงทุนจะอยู่ในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย Grab, Go-Jek, Lazada และ Sea

แจ้งเกิดยูนิคอร์นสร้างกระแสบูมสตาร์ทอัพ

คุณดุสิต  ชัยรัตน์​ ผู้จัดการกองทุนแอดเวนเจอร์สในเครือเอสซีจี  มองว่าการจะสร้างให้สตาร์ทอัพไทยโดดเด่น และเติบโตมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีมูลค่าการระดมทุนขนาดใหญ่ในไทย Fundraising  ซึ่งไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในอินโดนีเซียมี GoJek  และมาเลเซียมี Grab อยู่แล้ว

การเกิดยูนิคอร์น ทำให้สร้างแรงบันดาลใจ เกิดฮีโร่ที่ช่วยปลุกกระแสดึงคนที่เป็นเทคทาเล้นท์กลับ​เข้ามาทำงาน โดยเฉพาะพวกหัวกะทิที่ไหลออกไปทำงานใน Facebook, Google, หรือ Apple ได้กลับเข้ามาทำสตาร์ทอัพในไทย เพราะเห็นแนวโน้มมากขึ้นว่ามีโอกาสทางธุรกิจที่ไปได้จริง  อีกทั้งฝั่งนักลงทุนเองก็ให้น้ำหนักกับการลงทุนในไทยเป็นลำดับต้นๆ มากขึ้นเช่นกัน

แต่ยังมีอีกหนึ่งข้อจำกัดของสตาร์ทอัพไทยที่ยังแก้ไม่ตกก็คือ จำนวนพวกคนเก่งทั้งหลายที่มีน้อย ทำให้เกิดการขาดแคลนสตาร์ทอัพที่มีฝีมือ และยังติดระเบียบที่อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขของรัฐบาลที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ