“ซอฟต์ พาวเวอร์” และทักษะใหม่หลังยุค Covid-19 เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

9 June 2020 Lifestyle

สองกูรูนักเศรษฐศาสตร์ เปิดแนวคิด “ซอฟต์ พาวเวอร์” และทักษะใหม่ทีจำเป็นในอนาคต หลังยุค Covid-19  ดันไทยสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุในการสัมมนาออนไลน์ เรื่อง“เปลี่ยนโฉมยุทธศาสตร์ Soft Power สร้างอำนาจใหม่ให้ประเทศไทยสู้โลกหลัง Covid-19” ที่จัดในการแถลงข่าวเทคซอร์ส เวอร์ช่วล ซัมมิต 19-20 มิถุนายน ว่าไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่าหลายประเทศในการควบคุม Covid-19 และมีเงินสนับสนุนมาตรการเยียวยาในสัดส่วนสูงเมื่อวัดจากจีดีพี

อย่างไรก็ตาม การจะก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤต ประเทศต้องการผู้ที่มีทักษะแห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21 ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการมีองค์ความรู้ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การเขียนโปรแกรม การทำวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) การคิดเชิงสร้างสรรค์  การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) แต่ต้องมีความคล่องตัว ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ (Agile and Flexibility) และเยียวยาฟื้นฟูตัวเองได้ (Resilience)  ต้องมีความอดทนและมี Growth Mindset ต่อไปเราอาจจะแบ่งเป็น โลกก่อนและหลัง Covid-19

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea (Group) กล่าวว่า ช่วงเวลาใน Covid-19 จะแบ่งออกได้เป็น สามระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

ระยะสั้น จำนวนผู้ป่วยมาก ล็อกดาว์นเต็มรูปแบบ เป็นความไม่ปกติ (Abnormal)  ระยะแรกนี้ เราต้อง “อยู่รอด” ระยะกลาง เป็นระยะ “อยู่เป็น” เตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนเข้าสู่ความไม่ปกติใหม่ (New Abnormal) ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นสูงและคล่องตัวที่จะปรับเปลี่ยนและการบริหารความเสี่ยงเป็นสำคัญ  ไทยกำลังเข้าสู่ระยะที่สอง จากการผ่อนคลายมาตการล็อคดาว์น ซึ่งมีเหตุการณ์ไม่แน่นอนสูงแต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

ระยะที่สาม “อยู่ยืน” การเข้าสู่ ความเป็นปกติใหม่ (New Normal) เปิดเมืองสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่า Covid-19 จะเร่งการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล คนที่พร้อมจะสร้างโอกาส แต่คนไม่พร้อมก็จะถูกดิสรับ เกิดช่องว่างด้านดิจิทัลสูงมากขึ้นระหว่างผู้พร้อมและไม่พร้อม

ดร.สันติธาร มองว่า สี่กลุ่มทักษะที่จะมีในยุคนี้ได้แก่ กลุ่มแรก ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) สามารถใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล การเขียนโค้ด การทำวิทยาศาสตร์ข้อมูล

กลุ่มที่สอง เป็นทักษะที่จะไม่ถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ เช่น การเข้าอกเข้าใจ (Empathy) และกลุ่มที่สาม  การยืดหยุ่นเยียวยาตนเอง (Resilience) และการมีโกรทมายด์เซ็ท กลุ่มสี่ ภาวะการเป็นผู้นำ ที่จะสื่อสารภาวะวิกฤตให้พนักงานร่วมฟันฝ่าอุปสรรค  โดยทักษะทั้งหมดส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในสตาร์ทอัพ

ดร.สมเกียรติ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้นำหลายประเทศที่เป็นสตรีจะมีความสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน เยอรมันและหลายประเทศกลุ่มนอร์ดิก ซึ่งสตรีอาจมีคุณสมบัติความเข้าอกเข้าใจที่ช่วยการบริหารจัดการภาวะวิกฤตได้

เขาระบุว่า โลกที่กำลังเปลี่ยนอย่างรุนแรงรวดเร็วนี้ จะต้องอาศัยกลยุทธ์ของ การเปลี่ยนวิธีคิดให้คนคล้อยตามในวิธีที่เราอยากให้เป็น เรียกว่า ซอฟต์พาวเวอร์ แตกต่างจากฮาร์ดพาวเวอร์ ที่เป็นการบังคับ

ดร.สันติธาร มองว่า ซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นมุมของการสร้างแบรนด์ การทำให้เห็นภาพชัดเจนที่จะโน้มน้าว โดยไม่ต้องจ่ายเงินหรือบังคับ ซึ่งปัจจุบันไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีควบคุมไวรัสโควิดเช่นเดียวกับ นิวซีแลนด์ ไต้หวัน เกาหลีใต้

ดร.สมเกียรติ เสริมต่อว่าซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ได้มองแค่นวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตสินค้าแต่เป็นเรื่องราวและสร้างอีโมชั่นนัลแวลู เพื่อสร้างแบรนด์ ให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล เช่น Kumamon ของเมือง Kumamoto  เมลอน Yubari และนมจากฮฮคไกโดและองุ่นจาก Ishikawa ทั้งหมดเป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่สร้างมูลค่าสูงให้กับเศรษฐกิจประเทศ

ส่วนของไทย ดร.สมเกียรติ มองว่า อาจสร้างจุดขายในดิจิทัลคอนเทนต์ อาหาร ท่องเที่ยว เกษตรกรรม  โดยทั้งหมดจะต้องผสมผสาน การใช้ฮาร์ดพาวเวอร์ ผลิตภัณฑ์บริการนั้นต้องมีคุณภาพก่อน ร่วมกับซอฟต์ พาวเวอร์ สร้างแบรนด์และการตลาด  เป็นสมาร์ทพาวเวอร์ ซึ่งสมาร์ทพาวเวอร์ ต้องทำซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นจนจบครบทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อที่จะได้รับคุณค่า หรือ Capture Value ได้ ซึ่งไทยยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก

ดร.สันติธาร มองว่าการสร้างแบรนด์นั้น ต้องสามารถ Connect The Dot ได้ โดยเชื่อมจุดแข็งของไทย ทั้ง Care, Culinary, Culture, Creativity , Corridor  เช่น การสร้างท่องเที่ยวธีมทริปอาหาร ตกแต่งทำอาหารฟิวชั่น ตามสถานที่ต่างๆด้วยความสร้างสรรค์และอาจทำภาพยนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทำอาหาร เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางอ้อมและทำให้ไทยเป็นประตูไปสู่อินโดจีน

สตาร์ทอัพไทย ต้องสร้าง Global Mindset หรือ Regional Mindset ดึงกลุ่มทาเล้นท์ต่างประเทศเข้ามาและให้คนไทยออกไปเปิดประสบการณ์ต่างประเทศ

ยุคนิวนอร์มัล จะเห็นเศรษฐกิจคนติดบ้าน จะมีกลุ่มที่คุ้นเคยกับการทำงานนอกสำนักงาน การทำงานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การอนุมัติออนไลน์ การปรับเปลี่ยนดิจิทัลในภาคธุรกิจจะรุนแรงและมากกว่าการใช้งานของผู้ใช้ทั่วไป เพราะลดต้นทุนลดลงและมีผลงานเพิ่มขึ้น