เอไอ ยกระดับ Smart Hospital การแพทย์อนาคต

27 August 2020 Technology

การแพทย์อนาคต “เอไอ” ช่วยวินิจฉัยและรักษา ประมวลและวิเคราะห์บน Cloud เที่ยงตรงแม่นยำรวดเร็ว โดยมี หุ่นยนต์ เป็นลูกมือดูแลผู้ป่วยด้วยระบบ Telemedicine ยกระดับสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะ 

นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์อนาคตด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน เพราะประสิทธิภาพในการวินิจฉัยหรือการรักษาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยแพทย์พยาบาล คือ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ด้านข้อมูลการรักษาผู้ป่วยเพื่อให้เอไอทำการประมวลและวิเคราะห์ผลให้เกิดความถูกต้องและแม่นยำ 

ตัวอย่างเช่น การใช้เอไอเพื่อตรวจคนไข้ปอดอักเสบจากไวรัส Covid-19 ต้องใช้ตัวอย่างข้อมูลคนไข้ล้านกว่าคนที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้เอไอได้วิเคราะห์และประมวลผลออกมาอย่างถูกต้องและแม่นยำที่สุด ดังนั้นการสร้างเครือข่ายฐานข้อมูลเอไอ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงจากต่างประเทศด้วย เพราะในอนาคตข้อมูลผู้ป่วยจะถูกจัดเก็บด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์บน Cloud โดยใช้ เอไอ ช่วยประมวลและวิเคราะห์ผล  

ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนในคณะแพทย์ศาสตร์บรรจุหลักสูตรเอไอเข้าไปด้วยเพื่อให้แพทย์พยาบาลได้เรียนรู้การ ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลด้วยเอไอ และ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา ช่วงวิกฤติ Covid-19 มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างมาก ตั้งแต่เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคด้วย CT scan ที่รวดเร็วแม่นยำ เทคโนโลยีการป้องกันการติดเชื้อด้วยหน้ากาก N95 และ ชุด PPE หรือแม้แต่การพัฒนาวิจัยวัคซีน เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังเกิดสตาร์ทอัพเทคโนโลยีทางการแพทย์หน้าใหม่ อาทิ เครื่องทดสอบเชื้อไวรัสด้วยน้ำลายสามารถลดขั้นตอน ในห้องทดลองและมีความเที่ยงตรงสูง หรือ หุ่นยนต์ ที่เข้ามาช่วยส่งของ หรือ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเพื่อความเสี่ยงจากการสัมผัส รวมถึงเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Huawei เข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยี 5G, AI และ Cloud ทำให้การวินิจฉัยโรคใช้เวลาน้อยมาก จนนำมาสู่การพัฒนาการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก นับเป็นการยกระดับการแพทย์ไปสู่  Smart Hospital หรือ โรงพยาบาลอัจฉริยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ยังเกิดการวิเคราะห์ตัวยาใหม่ ๆ ออกมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส อาทิ กระชาย และ ขิง มีผลระงับ Covid-19 ได้ดี จึงเกิดความร่วมมือวิจัยและพัฒนากับภาคเอกชนผลิตสารสกัด  พร้อมกับเกิดความตื่นตัวในการฝึกอบรมแพทย์พยาบาลให้สามารถรับมือกับสถานการณ์และการดูแลผู้ป่วย Covid-19 เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายไขกระดูก ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส หรือการประชุมระบบซูมระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเพื่อให้คำปรึกษา ทั้งหมดเพื่อเตรียมการรับมือหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ 

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเด็น “Transforming Healthcare” ซึ่งเป็นหนึ่งในหกธีมสำคัญของเวทีเสวนาในงาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ซึ่งยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดบริการใหม่ในวงการแพทย์ของไทย รวมทั้งรูปแบบในการรับมือหลังการระบาดของ Covid-19 ผู้สนใจสามารถติดตามเนื้อหาการเจาะลึกแบบเต็ม ๆ ครบถ้วนทั้ง HealthTech และ MedTech ได้ ๋ในงาน

Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ระหว่างวันที่ 1-4 กันยายนนี้ ทางเวปไซต์ https://STxITE2020.nia.or.th