“Shenzhen” รังฮาร์ดแวร์ – ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ “พลิกโลก” ร่นเวลาผลิตเหลือ 1 สัปดาห์จาก 1 เดือน

30 November 2018 Startups

ไม่มีที่ไหนที่จะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ทั้งในแง่ความเร็วออกสู่ตลาด หรือจะเป็นประสิทธิภาพของการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน ที่ “Shenzhen” แห่งนี้สามารถดึงดูดทีมสตาร์ทอัพจากทั่วทุกมุมโลก โดยกว่าครึ่งมาจากอเมริกาเหนือ 1 ใน 4 มาจากจีน และที่เหลือมาจากยุโรป

ความเป็นจริงที่ได้รับการทดสอบและพิสูจน์แล้วก็คือ 1 สัปดาห์ใน Shenzhen เป็นเหมือน 1 เดือนในที่อื่น

“ทีมงานมาที่นี่ 3 เดือนแล้ว พวกเขาทำงานวิจัยและพัฒนาที่ปกติจะใช้เวลาราว 1 ปีจึงจะแล้วเสร็จ” Duncan Turner กรรมการผู้จัดการ HAX ผู้ใช้เวลาหลายปีไปๆ มาๆ ระหว่าง London และเมือง Xiamen ก่อนที่จะมาดูแล HAX ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านฮาร์ดแวร์ ซึ่ง Turner เป็นผู้นำโครงการนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา รวมทั้งในฐานะอดีตหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์บริษัท IDEO เอ่ยขึ้น

“คุณสร้างตัวต้นแบบที่ไหนก็ได้ แต่มันใช้เวลานาน 90% ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีต้นกำเนิดใน Shenzhen คุณสามารถเอาส่วนประกอบของบริษัท Westem มาใช้ได้ แต่คุณจะพบว่าเมื่อคุณผลิต ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นคุณต้องออกแบบและผลิตใหม่” Turner กล่าว

เรื่องน่าทึ่งที่สุดเกี่ยวกับ Shenzhen ไม่ใช่เมืองนี้แปรสภาพจากหมู่บ้านชนบทขนาด 30,000 คน มาเป็นมหานครที่มีประชากร 20 ล้านคนในเวลา 30 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันไม่ธรรมดา สิ่งที่น่าทึ่งที่สุด คือเบื้องหลังการเติบโตอันไม่อาจวัดได้ เพราะเมืองแห่งนี้คือจุดกำเนิดผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ของโลกเกือบทั้งหมด

ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ HuaQiangBel ทางใต้ของเมือง Shenzhen ของจีน เป็นเสมือนเมืองอันเฟื่องฟูสำหรับธุรกิจอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพราะที่นี่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน มีกองไมโครชิป บอร์ดวงจร หลอดไฟ LED และตัวชาร์จไร้สายวางเป็นแถวๆ ขณะที่โดรนกำลังบินและโฮเวอร์บอร์ดโฉบเฉี่ยวไปมา แต่สิ่งที่เห็นอยู่เป็นแค่ผิวนอกเท่านั้น

ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพอย่าง HAX ที่อยู่เหนือขึ้นไป 8 ชั้น คือสวรรค์ของเหล่านักสร้างอันคึกคัก ลิฟต์ที่นำไปสู่ใจกลางถูกตกแต่งสไตล์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เสียงพูดคุยจะเปลี่ยนจากภาษาจีนกลาง เป็นอังกฤษหลากสำเนียง พื้นที่เปิดโล่งทั่วชั้นแผ่ขยายออกไปราว 42,000 ตารางฟุต เป็นพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์ติดตั้งอุปกรณ์ในการทำงานทั่วไปร่วมกัน มุมโทรศัพท์สำหรับพูดคุยส่วนตัว ห้องประชุมพร้อมไวท์บอร์ด โต๊ะปิงปองในห้องครัว ห้องครึ่งวงกลมสำหรับวันเสนองาน

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกชั้นเพื่อจัดเตรียมงานต้นแบบที่เต็มไปด้วยเครื่องมือทดสอบเชิงอุตสาหกรรม หน่วยการผลิต Shenzhen มีแม้กระทั่งห้องแล็บชีวภาพสำหรับการวิจัยเชิงการแพทย์และเกษตรกรรม

“บริษัทจำนวนมากมาหาเรา ส่วนใหญ่รู้ว่าพวกเขาต้องมาที่ Shenzhen เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการสู่บริษัทเต็มรูปแบบ เราทำงานร่วมกับ 150 ทีมที่สร้างของเจ๋งๆ ในด้านเทคโนโลยีผู้บริโภค บริการสุขภาพ IoT สำหรับองค์กร หรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมทั้งเทคโนโลยีการผลิต”

“สมาชิก 30 คนในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพฮาร์ดแวร์นี้ มีตั้งแต่วิศวกรหุ่นยนต์ ไฟฟ้าและเครื่องกล ไปจนถึงกราฟิกดีไซเนอร์ และนักออกแบบเชิงอุตสาหกรรม ทั้งหมดต่างพร้อมทำงานตามความต้องการของแต่ละคน” Turner กล่าว

HAX เป็น 1 ใน 6 โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ดำเนินการโดย SOSV (โครงการอื่นๆ อยู่ใน Shanghai, Taipel, San Francisco, Cork, lreland และ New York) บริษัทร่วมทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในเมือง Princeton รัฐ New Jersey การก้าวสู่โครงการอันเป็นที่ต้องการนี้มาพร้อมกับทุนตั้งต้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเปลี่ยนกับหุ้น 10% ในสตาร์ทอัพ ทีมที่แสดงออกถึงศักยภาพจะมีโอกาสได้รับการลงทุนจากกองทุนช่วยเร่งขนาดการเติบโต

“เราใช้โครงการนี้ตรวจสอบสตาร์ทอัพก่อนเข้าไปลงทุน (due diligence)” Turner ผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญของ SOSV ที่รับผิดชอบการเงินการลงทุนด้วยเช่นกันกล่าว “ มันดีกว่าการตรวจสอบใดๆ ก็ตามที่คุณจะทำในฐานะนักลงทุนทั่วไปซึ่งเข้ามาในช่วง series A” จนถึงวันนี้ SOSV ลงทุนไปกับสตาร์ทอัพแล้วเกือบ 700 แห่ง

แม้จะมีการขยายหลักสูตรที่คล้ายคลึงกัน เพื่อให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำ Pearl (Pearl River Delta) อย่างล้นหลาม แต่ HAX ถือเป็นแห่งแรกที่ยกระดับสถานะของตัวเองใน Shenzhen จากความตั้งใจในการก้าวนำเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อ “พลิกโลก”

คาดการณ์กันว่าทั่วทั้งจีนจะมีโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพราว 3,000 แห่งที่กำลังดำเนินการอยู่ และจะทะลุ 5,000 แห่งภายในปี 2020 ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ยังมีเงินทุนอิสระมากมายจากคลื่นพัฒนาอุตสาหกรรมช่วงแรก ซึ่งยังต้องการหาพื้นที่งอกเงย

Shenzhen ได้รับการกำหนดให้เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน มหานครแห่งนี้เปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ รวมทั้งดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีในบ้านเกิดที่โดดเด่นมากมาย อาทิ Tencent, Huawei, ZTE, Coolpad, DJI และ BYD

เรียบเรียง: FORBES Thailand