ตลท. ชี้ Crypto อาจมาแทนเงินได้ แต่ต้องแก้ปมอีกหลายจุด

31 May 2018 Lifestyle

ในวงการการเงิน หลายคนเชื่อว่าเงินสกุลดิจิทัลจะมาทำงานแทนเงินดั้งเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เองมีความเห็นอย่างไร คุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ ตลท. มาแชร์ให้ฟัง

คุณเกศราชี้ว่าหาก cryptocurrency จะมาแทนสินทรัพย์ได้จริง ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 4 ด้าน

อย่างแรก มูลค่าเงินต้องมีความเสถียรภาพ ทุกวันนี้ ราคาเงิน crypto ยังขึ้น-ลงรวดเร็ว หากถือเอาไว้แทนเงินแล้ว ก็คงไม่สามารถมั่นใจได้ว่าพรุ่งนี้มูลค่าจะคงเดิมหรือเป็นศูนย์ และเงิน crypto เราเองก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนถืออยู่ เพราะขาใหญ่ที่เป็นคนออกเงินนี้ อาจจะถือร้อยละ 50 แล้วเขาก็ทำให้ราคาขึ้น-ลงเองก็ได้

เรื่องที่ 2 คือคนดูแลตลาดเงินให้มีเสถียรภาพคือธนาคารกลางทั่วโลก จะไม่ปล่อยให้เกิดเงินเฟ้อ 100-200% ถ้า crypto จะมาแทน ธนาคารกลางก็ต้องเข้ามาจัดการกับเสถียรภาพของมัน เรื่องถัดมาคือต้องเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย แม้ว่าทุกวันนี้มีเพียงบางร้านที่รับชำระด้วย Crypto แถมการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ก็ยังไม่ครบวงจร เช่นการยืนยันรายการซื้อ-ขาย เราต้อง Confirm จากทั้งระบบ หากเราใช้ Crypto ในกระเป๋าเงินดิจิทัลระบบหนึ่งไปชำระในร้านค้าที่ใช้อีกระบบ บางครั้งจะถูกหักค่าธรรมเนียมร้อยละ 5-7 เพราะไม่มี medium exchange ขนาดแค่ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตร้อยละ 2-3 เราเองก็ยังไม่พอใจเลย

เรื่องสุดท้าย คือยังไม่มีการดูแลระบบ backup ในทางกลับกัน หากเราใช้ระบบ online payment เช่น พรอมท์เพย์ หากเกิดอะไรขึ้นก็ยังมีระบบ backup เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกรรมต่างๆ สำเร็จลุล่วงจริง

แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลาย และเมื่อพัฒนาได้ครบวงจรขึ้น ก็จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินในวงกว้างขึ้น ต้นทุนต่ำลงและรวดเร็ว ที่ผ่านมา ตลท. ก็ใช้ ระบบ High Frequency Trading (HFT) มาช่วยให้คนทำรายการต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ และส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นในปริมาณมากและรวดเร็ว และ ตลท. ยังสร้าง LiVE Platform เพื่อช่วยสตาร์ทอัพให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ทำให้ทำรายการได้รวดเร็วและตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอขั้นตอน Book Closing

ขณะนี้ บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการการลงทุน นำ AI มาช่วยตัดสินใจแทนมนุษย์ โดยใช้ข้อมูลจาก Big Data มาประกอบ จึงทำให้นักลงทุนใช้ประโยชน์จาก AI ได้สะดวกขึ้นแล้ว

การระดมทุนเป็นเงินดิจิทัลก็เกิดแล้ว ในปีก่อน Startup เริ่มระดมทุนโดยการออกโทเคนหรือเรียกว่า ICO เพราะระดมทุนได้เร็วและต้นทุนต่ำ แต่จากสถิติก็พบว่าโอกาสระดมทุนสำเร็จมีแค่ร้อยละ 3.8 แถมแหล่งเงินทุนก็มีอยู่หลากหลาย เช่น ทุนส่วนตัว กู้แบงค์ Private Equity เงินร่วมทุนจาก VC และ IPO

หากกฎหมายลูกของพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลประกาศใช้แล้ว การออก ICO จะชัดเจนขึ้น ความเสี่ยงลดลงและช่วยดูแลผู้ลงทุน ขณะนี้ ตลท. ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ก็ติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิด

เขาแนะนำว่าผู้ประกอบการต้องศึกษาผลดีผลเสียของแหล่งเงินทุนแต่ละประเภทและเลือกใช้อย่างเหมาะสม เช่น กู้แบงค์ดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือระดมทุนด้วยการออก IPO ก็ได้ความน่าเชื่อถือ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ เปิดเผยข้อมูล มีความโปร่งใส

Market Trend-TrendbySET