หน้าจอมือถือส่งผลพัฒนาการเด็ก ลดโอกาส “เคลื่อนไหว-สื่อสาร”

1 February 2019 Lifestyle

เปิดผลวิจัย หน้าจอดิจิทัลส่งผลเชิงลึกกับพัฒนาการในเด็กเล็ก หลังมีการสำรวจจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Calgary ตีพิมพ์ลงในวารสาร JAMA ระบุว่า เด็กที่อยู่กับหน้าจอนาน ๆ โดยเฉพาะเด็กอายุ 2 – 5 ปี มีคะแนนด้านพัฒนาการที่ต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นหน้าจอมือถือ

เหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะหน้าจอดิจิทัลจะดึงให้เด็กอยู่กับคอนเทนต์ในจอมากที่สุด เด็กจึงไม่ต้องพูด ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องเล่นใด ๆ ทั้ง ๆ ที่กิจกรรมที่กล่าวมาคือทักษะพื้นฐานที่เด็กควรได้รับการฝึกฝนทั้งสิ้น โดยทีมวิจัยได้ทำการทดสอบผลกระทบที่เกิดจากหน้าจอต่อพฤติกรรมและพัฒนาการตามวัยของเด็ก ในช่วงอายุ 2, 3 และ 5 ขวบ ผ่านทางผู้ดูแลเป็นผู้ให้ข้อมูล และต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับทักษะด้านการสื่อสาร และการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กร่วมด้วย

สำหรับผลการวิจัยนั้น เด็กวัย 2 ขวบที่ผู้ดูแลระบุว่าใช้เวลากับอุปกรณ์ดิจิทัลมาก ๆ พบว่ามีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการในช่วงอายุ 3 ขวบ โดยพวกเขาได้คะแนนต่ำกว่าเพื่อน ๆ วัยเดียวกันที่ใช้หน้าจอน้อยกว่า นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงไปถึงพัฒนาการในช่วงอายุ 5 ขวบได้เลยทีเดียว จากข้อมูลอ้างอิง เด็ก ๆ ในการวิจัยนี้ ได้รับอนุญาตให้เล่นสมาร์ทโฟนได้ 2 – 3 ชั่วโมง/วัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า นี่จะเป็นตัวเลขที่รับได้ เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน

แต่สิ่งที่นักวิจัยมองเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เมื่อเด็กเล่นอุปกรณ์ดิจิทัล เขาอาจพลาดโอกาสในการเคลื่อนไหว การพูด การมีปฏิสัมพันธ์กับคน ซึ่งการไม่ได้พัฒนาทักษะเหล่านี้ในเวลาที่เหมาะสมจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเด็ก เนื่องจากพวกเขาจะไม่สามารถอธิบายถึงสิ่งที่อยากได้ ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่น ๆ รวมถึงไม่รู้ว่าควรจะพูดอย่างไรด้วย

Sheri Madigan นักวิจัยจากโปรเจ็คต์ดังกล่าวเผยว่า การมีปฏิสัมพันธ์ในทางที่ดีกับผู้เลี้ยงต่างหากที่เป็นตัวช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกายและสมองดีขึ้น ไม่ใช่หน้าจอมือถือ หรือจอทีวีแต่อย่างใด นอกจากนี้ สิ่งที่การวิจัยนี้ยืนยันได้ชัดเจนข้อหนึ่งก็คือเด็กที่อยู่กับหน้าจอ โดยทั่วไปแล้วจะมีคะแนนด้านพัฒนาการต่ำ แต่เด็กที่ได้คะแนนพัฒนาการต่ำ อาจไม่ใช่มาจากหน้าจอดิจิทัลทั้งหมด โดยยังมีตัวแปรบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในเด็กระดับปฐมวัย รวมถึงการมองหาโซลูชั่นที่เทคโนโลยี และเด็กจะอยู่ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างที่ TechCrunch ได้แนะนำไว้ เช่น บางทีการเล่นเกมสนุก ๆ ด้วยกันกับลูกพี่ลูกน้องบน MineCraft ก็อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสำหรับเด็กก็เป็นได้

อ้างอิง: TechCrunch.com