ที่พักอาศัย co-working space ธุรกิจกำจัดขยะ โอกาสธุรกิจชุมชนรอบโรงพยาบาล

21 September 2018 Startups

สมาคมสมองกลฝังตัว (TESA) ได้จัดเสวนา Series 2 Health Utopia ความต้องการของชุมชนรอบโรงพยาบาล ที่ได้รับมุมมองความคิดเห็นจากสถาปนิก และสตาร์ทอัพมาบอกเล่าประสบการณ์

ดร.ประพัทธ์พงศ์ อุปลา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ร่วมแบ่งปันการออกแบบโรงพยาบาลสมัยใหม่ ที่จะให้เป็นศูนย์สุขภาพ (Health Centre) ที่มีความสะอาดทันสมัยและเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก

ด้วยแนวคิดของการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งจะดึงดูดต่างชาติ เช่น โรงพยาบาลบางแห่งมีสปา พื้นที่ออกกำลังกาย รองรับผู้สูงอายุจากญี่ปุ่นที่จะมีแพทย์คอยให้บริการ  การออกแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะโรงพยาบาล จำเป็นต้องมียูนิเวอร์ซัลดีไซน์ที่รองรับทุกความต้องการของบุคคลที่จะเข้าถึงสถานที่ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พร้อมการเชื่อมต่อระหว่างอาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งคนชรา ผู้ป่วยที่ต้องใช้รถเข็น สตรีมีครรภ์และเด็ก

การออกแบบในโรงพยาบาลจะมีความซับซ้อน ต้องให้พื้นที่ชัดเจนตามแต่ละฟังก์ชั่นที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ทั้งส่วนผู้ป่วยนั่งรอรับการรักษา ส่วนญาติที่มาเยี่ยม ส่วนของแพทย์พยาบาลที่ออกตรวจและให้บริการ ส่วนของห้องปฏิบัติการทดสอบต่างๆ

นอกจากนี้ ระบบขนส่งต้องมีการจัดการจราจร ทั้งการรองรับผู้เดินเท้า รถยนต์ส่วนตัวและขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถฉุกเฉิน ต้องเข้าโรงพยาบาลและจอดรถได้อย่างสะดวก พื้นที่การจอดรถต้องมากเพียงพอ เพื่อลดการจราจรคับคั่ง และจะต้องจัดสรรพื้นที่เฉพาะให้กับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และรองรับรถแต่ละประเภทและขนาดได้อย่างเหมาะสม

ดร.ประพัทธ์พงศ์ ยอมรับว่าหากเป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งมานาน โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่มีชื่อเสียง มีแพทย์เฉพาะทาง ทำให้มีผู้ป่วยนอกพื้นที่เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ก็ยากที่จะแก้ไข เนื่องจากไม่ได้รับการออกแบบอาคารให้คำนึงถึงการจอดรถและจราจรในตอนแรก

อีกทั้งระบบระบายอากาศ การกำจัดของเสีย ขยะอันตราย ขยะพิษ การบำบัดน้ำเสีย ก็เป็นปัญหาที่ผู้คนอาศัยในชุมชนกังวลใจต่อโรคภัยและการติดเชื้อที่โรงพยาบาลมาสร้างปัญหาให้กับผู้คนรอบชุมชน นอกเหนือจากการจราจรที่คับคั่งของผู้ที่มาใช้บริการรอบโรงพยาบาล

เขามองว่าการใช้เซนเซอร์เข้ามาตรวจวัดควันพิษ ทั้งในและบริเวณรอบโรงพยาบาล อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา และการสร้างมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลก็อาจช่วยลดจำนวนของผู้อยู่นอกพื้นที่เข้ามากระจุกตัวได้  พร้อมกับการให้ข้อมูลสารสนเทศ แอปฯ ด้านสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพระยะไกล ที่เป็นระบบเทเลเมดิซีน ก็จะช่วยลดปริมาณผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อบรรเทาปัญหา จำเป็นต้องสร้างแบบจำลอง เพื่อดูผลลัพธ์จากการคาดการณ์ให้ได้อย่างแม่นยำที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับโรงพยาบาล พร้อมการใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของมนุษย์มาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ พร้อมกับเป็นมาตรการการจูงใจเพื่อให้ปัญหาสัมฤทธิ์ผล อย่าใช้เทคโนโลยีเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา ให้มองการตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นหลัก

หากมองในด้านบวก การมีสถานพยาบาล สร้างโอกาสให้ชุมชนด้านพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องการเดินทางไกล หรือญาติผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัด รวมถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าปลีก รวมถึงโคเวิร์คกิ้งสเปซ ที่ให้นักศึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ใช้บริการได้เข้าไปทำงานหรือพักผ่อนหย่อนใจคลายเครียดหรือทำงานอื่น

ทั้งนี้ การออกแบบผังเมืองหรือพื้นที่สมัยใหม่ โดยเฉพาะกระแสเมืองอัจฉริยะ ที่เป็นสมาร์ทซิตี้นั้น ไม่ควรคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น การออกแบบผังเมืองทางกายภาพเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่สมาร์ทซิตี้

ดร.ปริญญา วัฒนนุกูลชัย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินโนเวชั่น เบรน จำกัด สตาร์ทอัพน้องใหม่ที่ทำธุรกิจด้านขยะรีไซเคิล เล่าว่า มองเห็นโอกาสจากธุรกิจกำจัดขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ไม่มีวัฒนธรรมการคัดแยกขยะ แม้จะมีถังขยะที่ให้คนช่วยกันแยกขยะแล้วก็ตาม เนื่องจากขาดแรงจูงใจ สร้างปัญหาปริมาณขยะล้น และต้องใช้เจ้าหน้าที่และแรงงานมาแยกขยะที่เสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง

โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ซึ่งได้ลงพื้นที่สอบถามโรงพยาบาลราชวิถีที่อยู่ในพื้นที่ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี พบว่า มีเพียงร้อยละ 5 ของขยะเท่านั้นที่ได้รับการคัดแยกอย่างถูกต้อง และพื้นที่โดยรอบมีปัญหาขยะล้นและส่งกลิ่น

บริษัทเป็นสตาร์ทอัพที่ทำต้นแบบรถแยกขยะ “ซาเล้ง 4.0” ที่รับซื้อบรรจุภัณฑ์และให้คนไปหยอดตู้แยกขยะในรถเคลื่อนที่ และได้รับเงินจากการหยอดตู้หรือเป็นคูปองส่วนลดสินค้า ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนนำบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกและอื่นๆ มาขายต่อ เพิ่มโอกาสที่จะนำขยะมารีไซเคิล

มีการประเมินกันว่า ประชากร 1 คนมีขยะ 1 กิโลกรัม ในจำนวนขยะนั้น ร้อยละ 85 นำมารีไซเคิลได้ คิดเป็นมูลค่า 700 ล้านบาท แต่ทำได้จริงร้อยละ 35 ยังมีอีกร้อยละ 50 ที่ไม่ได้นำมารีไซเคิล หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 595 ล้านบาท ยิ่งในโรงพยาบาลรัฐที่มีปริมาณขยะมาก หากมองที่ขนาดตลาด การทำต้นแบบมารองรับในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ จัดการรถขยะเคลื่อนที่ รถตู้รับขยะ หรือรถพ่วงที่มาช่วยรองรับปริมาณขยะในบางพื้นที่

นอกจากโรงพยาบาลรัฐ เอกชนขนาดใหญ่ ก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ทำให้สตาร์ทอัพอย่างอินโนเวชั่นเบรนได้ทำงานร่วมกับไทยเบฟ ซึ่งไทยเบฟ ผลิตเบียร์ 1 ปี 2,000 ล้านขวด จำนวนครึ่งหนึ่งนำกลับมาทำความสะอาดได้ ส่วนที่เหลือนั้นเสียหายมากเกินกว่านำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับขวดใหม่ ปีละ 3,000 ล้านบาท

เขามองว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีจะเป็นเทสต์เบสต์ให้คนมีไอเดีย มีโรงพยาบาลราชวิถี มีคนนอกพื้นที่และในพื้นที่มาใช้บริการเกิน 100,000 คนมาทำงาน แล้วกลับไป ซึ่งสร้างผลกระทบทั้งปริมาณ รถยนต์ สิ่งแวดล้อมและของเสีย ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมกับคนรอบข้างบริเวณโดยรอบในชุมชน หากสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ โดยใช้เทคโนโลยี มาตรการสร้างแรงจูงใจและพฤติกรรมของคน ก็จะทำให้คนในชุมชนมีความสุขมากขึ้น เมืองก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน

ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย ทิ้งบทสรุปการเสวนาว่า นักพัฒนาเองต้องเห็น “ปัญหา” ก่อนบางอย่าง เช่น การจราจรติดขัด นักพัฒนาต้องใช้เทคโนโลยี “เพื่อการตรวจจับ” สิ่งผิดปกติหรือแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติ เทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ไขปัญหาได้ ผ่านการวัดและแสดงผล  ซึ่งในเชิงบริหาร หากวัดผลได้ ก็จะช่วยลดปัญหาลงได้ครึ่งหนึ่ง และหากนำเอไอเข้ามาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ออกแบบฟีดแบ็กคอนโทรล การออกแบบระบบอัตโนมัติเข้าไปแก้ไขปัญหา ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ท้าทายและยากได้สำเร็จ