ฐานข้อมูลสุขภาพ ปัจจัยหลักสตาร์ทอัพ “เศรษฐกิจชีวภาพ”

29 May 2020 Startups

กูรูวงการแพทย์ แนะปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพสายไบโอเทค ต้องเข้าถึง “ฐานข้อมูลสุขภาพ” มีความรู้เชิงลึกเรื่อง ยีน จุลินทรีย์ และดีเอ็นเอ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงความต้องการของลูกค้า

นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) เปิดเผยว่าประเทศไทยเหมาะสมเป็นฐานการผลิตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) โดยเฉพาะด้านอาหารและยา เนื่องจากฐานทรัพยากรธรรมชาติเหมาะสมและแนวโน้มประชาชนสนใจ “สุขภาพส่วนตัวบุคคล” ( Personalization) มากขึ้น ซึ่งการดำเนินธุรกิจอาหารและยาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพให้ประสบผลสำเร็จ สิ่งสำคัญ คือต้องมี “ฐานข้อมูล” ด้านสุขภาพ

การตรวจพันธุกรรมหรือการตรวจ “ยีน” (Genetic) เป็นการตรวจร่างกายในระดับลึกและถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในหลายๆ ด้าน เช่น ยีนก่อมะเร็งและการตรวจหา “จุลินทรีย์” ก่อโรคในร่างกาย รวมถึงการตรวจ “ดีเอ็นเอ” ด้วยการนำตัวอย่างเลือดหรือกระพุ้งแก้มเพื่อนำข้อมูลไปวินิจฉัยปัญหาสุขภาพอันเกี่ยวเนื่องกับลักษณะทางพันธุกรรม ที่สามารถนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและยาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพตอบสนองตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้เมื่อมีฐานข้อมูลสุขภาพครบถ้วน จากนั้นจึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาสนับสนุนวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา ให้เกิดการใช้ประโยชน์สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคมากที่สุด ดังนั้นสตาร์ทอัพที่เป็นคนรุ่นใหม่ต้องมีความรอบรู้เชิงกว้างและเชิงลึก ตัวอย่างเช่น การผลิตอาหารหรือยารักษาวัณโรค สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การเข้าถึงฐานข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แต่สิ่งที่ยากที่สุด คือ การได้มาซึ่งข้อมูลจะทำอย่างไร

นพ.กฤษณ์ กล่าวว่าการแพทย์เชิงสุขภาพก่อนหรือหลังสถานการณ์ Covid-19 ไม่ได้แตกต่างกันมากนักต่างกันเพียงประชาชนพุ่งความสนใจไปในประเด็นด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน ช่วงก่อนสถานการณ์ Covid-19 ประชาชนให้ความสนใจเรื่องจะทำอย่างไรให้อายุยืนหรือไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง แต่ปัจจุบันหลังสถานการณ์ Covid-19 วิธีคิดไม่ได้เปลี่ยนไปเพียงเปลี่ยนหัวข้อว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ Covid-19 ดังนั้นแนวทางการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพต้องมีฐานข้อมูลสุขภาพที่ลึกและกว้าง

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพต้องหาโอกาสทางธุรกิจที่ตัวเองถนัดที่สุด จากนั้นจึงสร้างทีมงานที่ดีและเข้มแข็ง ซึ่งต้องประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย การเน้นเฉพาะนักเทคนิคที่เก่งด้านไอทีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่อาจทำให้ธุรกิจอยู่ได้ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพที่เป็นนักเรียนแพทย์คนหนึ่งเพิ่งเรียนจบ แม้จะไม่มีความรู้ด้านไอที แต่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสามารถเข้าถึงเครือข่ายดึงข้อมูลด้านสุขภาพจากหน่วยงานภาครัฐที่มีฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลนำมาใช้ประโยชน์ ได้ ประกอบกับมีความถนัดเรื่องเภสัชกรรม จึงสามารถคิดค้นยาหรืออาหารโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า

ส่วนเรื่อง เอไอ ที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ สามารถจ้างนักเขียนโปรแกรมหรือนักพัฒนาซอฟแวร์ เข้ามาร่วมทีมทำงานในภายหลังได้ เพราะความฉลาดของ เอไอ ขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลว่ามากหรือน้อย ยิ่งมีข้อมูลมากยิ่งมีความแม่นยำสูง ดังนั้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องหาจุดสำคัญที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าให้เจอ โดยอยู่บนพื้นฐานของความถนัดและฐานข้อมูลที่ตัวเองมี ย่อมจะทำให้การประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ