Covid-19 ดัน HealthTech รุ่ง Relationflip สายด่วนสุขภาพจิตโต 30%

30 April 2020 Lifestyle

วิกฤต Covid-19 ส่งผลคนทำงานเครียด บ.มหาชน-เอสเอ็มอี พึ่งสายด่วนดูแลสุขภาพจิตพนักงาน ส่งผล Relationflip สตาร์ทอัพ HealthTech โตพรวด 30%

วินัดดา จ่าพา ผู้ก่อตั้ง Relationflip สตาร์ทอัพเพื่อสังคม ในนามบริษัท จิตตะ วิมังสา จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในกลุ่มสตาร์ทอัพสาย HealthTech เปิดเผยว่าตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 บริษัทมหาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้ามาใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตของ Relationflip เพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% เพราะต้องการให้ Relationflip ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่พนักงานในองค์กรที่กำลังตกอยู่ในภาวะตรึงเครียด พร้อมกับเก็บข้อมูล สถิติและสรุปเป็นรายงานความต้องการด้านการช่วยเหลือจากพนักงานให้บริษัทหรือองค์กรรับทราบเพื่อนำไปสู่การดูแลช่วยเหลือต่อไปในอนาคต โดยบริษัทมี 80  คู่สายในการให้บริการ สามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สาเหตุที่บริษัทมหาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีหันมาใช้บริการ Relationflip มากขึ้นเพราะต้องการดูแลเอาใจใส่สุขภาพกายและใจพนักงานเพราะถือเป็นการลงทุนด้านสังคมอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพจากสวัสดิการคุ้มครองแรงงานตามที่บริษัทมอบให้ปกติอยู่แล้ว สำหรับราคาค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับความต้องการด้านการบริการและข้อมูลที่แต่ละบริษัทหรือองค์กรต้องการ เบื้องต้นหากบริการให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียวย่อมมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการให้บริการให้คำปรึกษาพร้อมจัดทำรายงาน สถิติ กราฟฟิคและข้อเสนอแนะด้านจิตวิทยา ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า บริษัทมหาชนหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญและยอมทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อดูแลจิตใจพนักงาน เพราะถือว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ให้กับองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย

โดยในแต่ละวัน Relationflip รับสายโทรศัพท์ให้คำปรึกษาไม่ต่ำกว่า 100 คู่สาย ปัญหาส่วนใหญ่ที่พนักงานขอคำปรึกษาเป็นข้อวิตกกังวลจากสถานการณ์ Covid-19 ที่จะกระทบต่ออาชีพการงานและสถานการณ์บริษัท เช่น หวั่นกลัวผลประกอบการบริษัทไม่ดี อาจถูกเลิกจ้าง อาจมีการปรับลดเงินเดือน ถูกตัดโบนัสปลายปี ถูกปรับลดพนักงาน และถูกไล่ออก แม้จะยังได้รับการจ้างงานอยู่ แต่ก็กังวลเรื่องผลประกอบการของบริษัทในอนาคต หรือกังวลเรื่องการปรับตัวที่จะต้องไปทำงานในแผนกที่ตัวเองไม่ถนัด หรือต้องทำงานอยู่กับบ้าน โดยบริษัทให้คำปรึกษาพร้อมบันทึกและสรุปผลดังกล่าว ส่งให้ทางผู้ว่าจ้างไปประกอบการพิจารณาช่วยเหลือพนักงานต่อไป

บริษัทจิตตะ วิมังสา ก่อตั้งมาแล้ว 3 ปี ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคนไทยเป็นโรคเครียดและโรคซึมเศร้าจากการทำงานกันมากขึ้นแต่กลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทมหาชนขนาดใหญ่กว่า 10 บริษัท ใช้บริการ Relationflip สูงมากขึ้น เพราะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของศักยภาพในการทำงานว่าขึ้นอยู่อยู่กับสุขภาพจิตของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตปัจจุบัน