OneChat คว้ารางวัลชนะเลิศ SPARK 2

27 July 2018 Startups

โครงการ Spark 2 ประกาศผลผู้ชนะเลิศ ซึ่งทั้งสามบริษัทล้วนใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคลาวด์เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการให้บริการ ช่วยให้ธุรกิจทำงานได้เป็นอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการ Spark เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ AGW Group กลุ่มนักลงทุนจากอิสราเอล ในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพการเติบโตเข้าสู่ระดับโลก (Global Acceleration Program)

วันประกาศผล SPARK 2 Demo Day เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา มี 11 ทีมเข้ารอบเสนอแนวคิดแผนธุรกิจ กับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและต่างประเทศ จำนวน 8 ท่าน นำทีมโดย วิเชียร สุขสร้อย จาก NIA, Eitan Lavie ซีอีโอ AGW Group, กรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทค ประเทศไทย Monthida McCoole นักลงทุนจากบริษัท Cocoon Capital, Nichapat Ark จาก NSI,  Barak Sharabi จาก Infinity Technologies, Shannon Kalayanamitr จาก Gobi Partners และ Juthasree Kulvinichkul แห่ง Metta Group

OneChat ทีมชนะเลิศ เป็นแพลตฟอร์มที่ให้เครื่องมือการสร้างแชทบอทด้วยตนเอง เน้นสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซและแบรนด์ที่ต้องสื่อสารกับลูกค้า โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายแสนรายจากโซเชียลคอมเมิร์ซในไทย 2.5 ล้านรายโดยเฉพาะที่เปิดเพจขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก

ระบบมีจุดเด่นการใช้งานง่ายรวมศูนย์การดึงข้อมูลการสนทนาจากทุกช่องทางแชท อย่างไลน์และแมสเซนเจอร์ และให้ระบบแชทบอทตอบอัตโนมัติ ตามชุดคำถามและคำตอบที่ได้ตั้งไว้ ลดเวลาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้า

OneChat จะได้เดินทางไปร่วมกิจกรรม DLD Tel Aviv 2018 ประเทศอิสราเอล ได้ศึกษาดูงาน สร้างเครือข่ายธุรกิจ พบสื่อและนักลงทุน สัมผัสบรรยากาศจริงกับเมืองเทลอาวีฟ หนึ่งในแหล่งนวัตกรรมสตาร์ทอัพของโลก

รองอันดับ 1 Foodie แพลตฟอร์มการบริหารออเดอร์ให้กับร้านอาหาร โดยเชื่อมโยงข้อมูลการสั่งอาหารจากหลายช่องทาง ทั้งการสั่งทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ การสั่งผ่านแอปฯ เพื่อให้การทำงานรับออเดอร์เป็นไปอัตโนมัติมากขึ้นและเสนอโปรโมชั่นให้กับลูกค้าแต่ละราย ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลประวัติการสั่งซื้อได้

CloudCommerce ทีมรองอันดับ 2 โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศและระบบขนส่ง ช่วยให้ร้านค้าออนไลน์เลือกบริษัทขนส่งระหว่างประเทศที่เหมาะกับเป้าหมายปลายทางการส่งสินค้าไปยังลูกค้า

นอกจากนี้ มี PRIMO ได้รับรางวัลป๊อปปูลาร์โหวต เป็นระบบที่ช่วยเสนอแนะการใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรสะสมแต้มที่มีอยู่ให้กับผู้ใช้งานทั่วไปได้

ส่วนอีกเจ็ดทีมที่เหลือ ได้แก่ Cap Rangers บริการหางานพาร์ทไทม์แบบออนดีมานด์, ENRES ระบบการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์เพื่อประหยัดพลังงานในอาคารพาณิชย์และอุตสาหกรรม

Happenn แพลตฟอร์มสำหรับผู้จัดงานอีเวนต์ผ่านระบบคลาวด์, iVet อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับช่วยเหลือสัตว์เลี้ยง, Kooup แอปฯ หาคู่ด้วยดวงชะตา, MEiD แพลตฟอร์มการจัดเก็บประวัติทางการแพทย์ผ่านระบบคลาวด์  Pastel Keyboard แอปฯ คีย์บอร์ดสำหรับผู้ใช้มือถือโดยมีธีมน่ารักๆ ให้กับผู้ใช้งาน

Startup-SPARK

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า สตาร์ทอัพในโครงการ “SPARK  ปีที่ 2 นี้ มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเอไอ ที่เป็นดีปเทคมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลก

นอกจากนี้ยังพบว่าทีมก่อตั้งของผู้เข้าประกวดโดยมากจะมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น และหลายรายมีลูกค้าในต่างประเทศ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการให้ไทยเป็น Global Startup Destination

NIA เชื่อว่ากระแสของดีปเทคจะเริ่มร้อนแรงมากขึ้นในไทยโดยเฉพาะครึ่งปีแรก มี คอร์ปอเรท เวนเจอร์ แคปปิตอล ให้ความสนใจมาสอบถาม น่าเสียดายที่จำนวนสตาร์ทอัพในไทยยังมีน้อย เมื่อเทียบกับแอ็คเซอเลอเรเตอร์ที่มีจำนวนมาก 8-9 ราย

ในปีหน้า สำนักงานจะผนึกเครือข่ายมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาพันธมิตร เฟ้นหาดาวเด่นระดับนักศึกษาเพื่อบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการสายดีปเทคให้เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกเหนือจากสตาร์ทอัพในอีโคซิสเต็มส์ที่มีอยู่แล้ว

Startup-SPARK