เอ็นไอเอ ดึงโมเดล “ปารีสแอนด์โค” ปั้น “เชียงใหม่ แอนด์ โค” หนุนสร้างย่านนวัตกรรมเชียงใหม่

9 July 2018 Startups

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) กล่าวว่า เอ็นไอเอได้ประยุกต์โมเดลความสำเร็จจากประเทศฝรั่งเศส ในการให้เทศบาลเมืองบริหารงานและดึงดูดการลงทุนจากสตาร์ทอัพต่างประเทศ

เอ็นไอเอใช้โมเดล Paris & Co สำนักงานที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรรมและพัฒนาเศษฐกิจ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้สตาร์ทอัพต่างประเทศเข้ามาลงทุนในปารีส โดยเอ็นไอเอเตรียมเปิด ChiangMai & Co ภายในสิ้นปีนี้ ที่ถนนท่าแพ ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนอาคารเดิมมาปรับปรุงใหม่ และงบประมาณบางส่วนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ChiangMai & Co จะมีสถานที่สำหรับสตาร์ทอัพต่างประเทศและ Digital Nomad มาใช้พื้นที่ทำงาน การติดต่อหน่วยงานเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ เช่นสมาร์ทวีซ่า และจะช่วยเชื่อมโยงสนับสนุนกับสถาบันการศึกษาและสตาร์ทอัพในพื้นที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน

“เชียงใหม่ เป็นเมืองเป้าหมายอันดับต้นๆ ของ Digital Nomad ทั่วโลก  มีการประเมินคร่าวๆ ในเชียงใหม่นับหมื่นคนเลยทีเดียว”

ChiangMai & Co จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการสร้างอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดย่านนวัตกรรมในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 แห่งของเอ็นไอเอ โดยเป็นการสานต่อเป้าหมายให้ไทยเป็น Global Startup Destination นั่นเอง

นอกจากนั้น เอ็นไอเอยังได้ร่วมมือกับ Dassault จากฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญด้านซอฟแวร์สามมิติในการออกแบบพื้นที่สมาร์ทซิตี้ โดยเข้าไปถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อใช้ออกแบบย่านนวัตกรรม และต่อยอดไปให้นักศึกษาได้ทดลองนำไปใช้ออกแบบในมหาวิทยาลัย เป็น City Innovation Lab  ผ่านมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

อีกทั้งเอ็นไอเอมีแผนหารือความร่วมมือการจัดตั้ง Accelerator ด้านการบินและอวกาศ ร่วมกับแอร์บัส ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี

แนวคิดการออกแบบพื้นที่ของฝรั่งเศสสามารถปรับใช้ในย่านนวัตกรรมอีกหลายแห่ง เช่น การใช้ประโยชน์พื้นที่แบบผสมผสาน การเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อทำให้พื้นที่เกิดการใช้งานได้ต่อเนื่องกัน และรองรับการเติบโตของเมืองในระยะยาว ซึ่งจะนำโมเดลดังกล่าวไปปรับใช้ในย่านนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทกับบริเวณพื้นที่ถนนพระราม 4 ย่านนวัตกรรมโยธีกับพื้นที่ซอยรางน้ำ และ ย่านปุณณวิถีร่วมกับ True Digital Park

นอกจากนี้ ยังได้นำโมเดลการจัดตั้งศูนย์ Startup Nation มาสู่ประเทศไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งดึงดูดสตาร์ทอัพทั่วโลกให้เข้าสู่ประเทศ โดยมีนัยสำคัญคือ จะช่วยให้สตาร์ทอัพของไทยได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจของต่างชาติ และเป็นการช่วยฝึกภาษาอังกฤษในด้านการติดต่อธุรกิจของสตาร์ทอัพไทย

พร้อมทั้งเป็นการนำโมเดล Station F ฮับสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกของปารีส สู่การพัฒนาศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทย โดยจะนำพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้ว หรือเมืองเก่ามารังสรรค์ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันมีบางพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น อาคารในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท ที่พัฒนาให้เป็นศูนย์อำนวยความสะดวกด้าน Urban tech เป็นต้น