Ricult ตัวช่วยเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก

10 July 2021 Startups

แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ตัวเลข GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจะไม่อาจชี้วัดความแน่นอนของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือใช้ประเมินความเสี่ยงของการลงทุนได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่แน่นอนและยังคงชัดเจนมาตลอดหลายทศวรรษของประเทศไทยคือ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังคงไม่ได้ถูกเติมเต็ม

ประชากรไทยเกือบครึ่งประเทศทำงานหาเลี้ยงชีพในภาคเกษตรกรรม แต่รายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของผลิตผลทางการเกษตร ในปี 2563 จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า มีมูลค่าเพียง 8% ของ GDP เท่านั้น ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับแรงงานและความยากลำบากที่เกษตรต้องทุ่มเทในทุกๆ ปี

“นอกจากมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรอย่างมันสำปะหลังและอ้อยจะมีราคาไม่สูงแล้ว บางฤดูเก็บเกี่ยวก็หวังผลจากการหว่านพืชไม่ได้ เมื่อฤดูกาลนี้ผ่านไปอย่างขาดทุน ก็ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีทุนสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นฤดูกาลใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าที่ผ่านมาก็ได้” อุกฤษ อุณหเลขกะ CEO บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ด้วยประสบการณ์การทำงานในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทเอกชนระดับประเทศ รวมไปถึงความรู้ที่ได้จากการศึกษา ณ มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา นำพาให้อุกฤษได้พบกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ชาวปากีสถาน ที่เห็นความท้าทายในการพัฒนาผลผลิตภาคเกษตรกรรม และต้องการผลักดันให้เกษตรกรหลุดออกจากกับดักความยากจน

“เราทำงานให้คนรวย คนรวยก็รวยกว่าเดิม ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่คนจนที่เป็นประชากรกว่าครึ่งของประเทศจะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยไม่ต้องลงแรงหนักและเหนื่อยเหมือนกับรุ่นบรรพบุรุษของพวกเขา” อุกฤษกล่าว

บริษัท รีคัลท์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในปี 2560 มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรในประเทศไทยและปากีสถาน โดยนำความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้านการวิเคราะห์สภาพอากาศมาผสมผสานกับเทคโนโลยีดาวเทียมขั้นสูง ออกมาเป็นข้อมูลช่วยให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์ถึงผลผลิตที่จะได้รับได้ล่วงหน้าก่อนเริ่มทำการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้นว่า จะปลูกพืชชนิดไหน เวลาใด และด้วยวิธีอะไร เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ โดยการใช้แอปพลิเคชันที่แสดงผลเป็นรูปภาพและคำอธิบายที่เข้าใจง่าย และไม่มีค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลดแอปฯ

ในขณะเดียวกัน ‘รีคัลท์’ ได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเป็นข้อมูลให้องค์กรทางธุรกิจต่างๆ นำไปใช้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการลงทุนของเกษตรกร วงเงินประกันภัยของพื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าเกษตรกรรมผ่านตลาดออนไลน์ ปัจจุบัน ‘รีคัลท์’ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับชาติหลากหลายวงการ อาทิ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ รวมไปถึงโรงงานรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทประกันภัยต่างๆ

“ความท้าทายของสตาร์ทอัพนี้คือ การสร้างความน่าเชื่อถือว่า นวัตกรรมของเราสามารถใช้ได้จริง โดยเฉพาะกับสถาบันทางการเงิน ‘รีคัลท์’ ทุ่มเทเวลาในการลงพื้นที่ฟาร์มตัวอย่าง เพื่อรวบรวมข้อมูลในทุกมิติ และนำมาประมวลผลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) รวมถึงการนำการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ เพื่อให้การบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพและแม่นยำสูงสุด โดยสามารถรายงานผลประกอบการของเกษตรกรเป็นสถิติและแผนภูมิ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยเกษตรกรมีโอกาสได้รับอนุมัติเงินกู้เพื่อการลงทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น”

นอกจากนี้ การเข้าร่วมการประกวดผลงานด้านนวัตกรรมกับองค์กรระดับประเทศต่างๆ รวมถึงโครงการสนับสนุนผลงานนวัตกรรมระดับชาติ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ที่สนับสนุนเงินทุนให้กับนวัตกรรมที่มุ่งพัฒนาสังคมไทยในด้านต่างๆ หลากหลายโครงการทั่วประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ ‘รีคัลท์’ ซึ่งถือว่าจำเป็นมากสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพของ ‘รีคัลท์’

“การได้การรับรองจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นเสมือนใบเบิกทางสำหรับสตาร์ทอัพ ที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเป้าหมายและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจของเรา รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงและคลายความกังวลของเกษตรกรว่าจะถูกเอาเปรียบจากคนแปลกหน้า”

นับตั้งแต่ปี 2562 จำนวนสมาชิกแอปพลิเคชัน ‘รีคัลท์’ ที่เป็นเกษตรกร เพิ่มขึ้น จนมีจำนวนมากถึง 4 แสนราย จากจุดเริ่มต้นเพียง 2 พันรายใน 2 ปีแรก การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนจากนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่มุ่งเน้นการยกระดับภาคเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยี การเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจในแพลตฟอร์มของ ‘รีคัลท์’ และการเปิดรับเทคโนโลยีในการทำฟาร์มของเกษตรกร

“เราไม่เคยมั่นใจเลยว่า เกษตรกรเปิดรับนวัตกรรมนี้ได้แค่ไหน จนกระทั่งวันหนึ่งที่แอปฯ ล่ม เราได้รับการร้องเรียนทางโทรศัพท์และช่องทางต่างๆ จากเกษตรกรหลายพันราย ให้ช่วยแก้ไขอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้พวกเขาสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศ และประเมินความเหมาะสม ก่อนการหว่านไถ นับว่าเป็นตัววัดความสำเร็จของ ‘รีคัลท์’ ท่ามกลางวิกฤติ”

เพื่อเป็นการต่อยอดต้นกล้าทางธุรกิจที่กำลังลงรากลึกในแผ่นดินไทย ในปีนี้ ‘รีคัลท์’ ได้สานต่อการสร้างรายได้ ด้วยการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรและธุรกิจพลังงานสะอาด จำหน่ายขยะที่เกิดจากการทำฟาร์มให้กับธุรกิจรับกำจัดขยะอย่างถูกวิธี แทนการเผา ซึ่งนอกจากช่วยลดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังสามารถนำขยะไปแปรรูปเป็นพลังงานไร้มลพิษ สร้างมูลค่าให้กับต้นทุนทางการเกษตร และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น 2-3 ปีต่อจากนี้ ‘รีคัลท์’ จะเดินหน้าสร้างพันธมิตรกับธนาคารสินเชื่อรายย่อย และบุกตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรในวงกว้าง