‘WeChef Thailand’ แค่มีครัวก็มีรายได้

22 June 2018 Lifestyle

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า บริการ Food Delivery นั้นแข่งกันดุเดือดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงมาเล่นของ Grab Foods หรือบริการของ LINE MAN ที่สามารถส่งอาหารได้ไม่ต่างจากส่งพัสดุ ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือการหาร้านอาหารชื่อดังเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเพื่อให้แบรนด์ตัวเองก้าวขึ้นมาเป็นตัวเลือกในใจของผู้บริโภค

แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดนั้น ต้องบอกว่ามีอีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตขึ้นมาแข่งขันในธุรกิจ Food Delivery เช่นกันกับ WeChef Thailand ในฐานะแพลตฟอร์มที่ช่วยนำ “ครัว” ที่บ้านมาสร้างรายได้ โดยคุณวินิจ ลิ่มเจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งเผยว่า WeChef Thailand เป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่มีใจรักการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานออฟฟิศที่อยากหารายได้เสริม ผู้สูงอายุที่เกษียนแล้วอยู่บ้านเฉย ๆ  แม่บ้านทั้งไทยและต่างชาติที่รักการทำอาหาร และมีเวลาว่าง

“ปัจจุบันเราเปิดมาได้ปีกว่าแล้ว และมีผู้สมัครเป็นเชฟทยอยเข้ามาเรื่อยๆ กว่า 100 ราย ซึ่งมีทั้งเชฟมืออาชีพที่มีใบประกาศนียบัตร และบุคคลทั่วไปที่มีใจรักการทำอาหาร” คุณวินิจกล่าว

โดยจุดเด่นของผู้ที่จะอยู่บนแพลตฟอร์มของ WeChef Thailand ได้นั้นก็คือต้องอยู่ในฐานะ “เชฟ” ไม่สามารถอยู่ในรูปของแบรนด์ร้านอาหารได้

“เราต้องการสร้างคนธรรมดาให้กลายเป็นเชฟ” คุณวินิจกล่าว “เชฟที่มาสมัครกับเรา ส่วนหนึ่งเป็นเชฟมืออาชีพมีวุฒิบัตรอยู่แล้ว และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนธรรมดาที่มีใจรักการทำอาหาร คนกลุ่มนี้จะถูกส่งไปอบรมก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า เราไม่ได้ไปดึงใครก็ไม่รู้มาทำอาหารให้เขากิน”

คุณวินิจเผยว่า ทางทีมงานจะมีพาร์ทเนอร์เป็นสถาบันฝึกอบรมการทำอาหารเพื่อสอนเทคนิคเบื้องต้นของการสร้างสูตรอาหาร และการดูแลสุขอนามัยในห้องครัวเตรียมไว้รองรับ เพื่อให้แพลตฟอร์มมีมาตรฐานและเชื่อถือได้

“เราไม่สามารถให้คุณมาอยู่ในระบบของเราได้ ถ้าไม่ Qualified ตรงนี้ ก็จะมีขั้นตอนสัมภาษณ์ ดูบุคลิกภาพ ดูความสะอาด ฯลฯ หรืออย่างคนรุ่นเก่าจะไม่ชินกับการชั่งตวง วัด แต่เราจะบอกว่า คุณป้าต้องทำสูตรมาตรฐานไว้ เพราะการจะทำขาย คนกินสิบครั้ง เขาต้องได้กินรสเดิมทั้งสิบครั้ง คุณป้าก็ต้องใช้ช้อนตวง ช้อนชา ช้อนโต๊ะให้เป็น”

สำหรับสาเหตุของการพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมานั้น คุณวินิจเผยว่า เนื่องจากเห็นโอกาสของธุรกิจ Food Delivery ที่สามารถช่วยให้คนธรรมดามีรายได้พิเศษ และในฝั่งของผู้บริโภคก็สามารถรับประทานอาหารที่อร่อย ถูกสุขอนามัย ในราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับร้านที่มีแบรนด์ อีกปัจจัยหนึ่งคือแพลตฟอร์มของ WeChef เลือกเก็บส่วนแบ่งรายได้กับทางเชฟเพียงร้อยละ 15 ซึ่งน้อยกว่าแพลตฟอร์มข้ามชาติที่มักเก็บในอัตราร้อยละ 30

นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังโหวตได้ว่าเขาชื่นชอบเมนูไหน หรือเชฟคนไหนทำอร่อย ซึ่งคุณวินิจมองว่ามันคือการจัด Ranking อย่างโปร่งใสด้วย

โดยในกลุ่มผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นเชฟนั้น คุณวินิจเผยว่า เป็นกลุ่มคนทำงานประมาณร้อยละ 50 กลุ่มคนสูงอายุร้อยละ 30 และกลุ่มแม่บ้านชาวต่างชาติร้อยละ 20 สาเหตุที่รับแม่บ้านชาวต่างชาติด้วยนั้น คุณวินิจเล่าว่า ถือเป็นโชคดีของเราที่จะได้ลองชิมอาหารต่างชาติในราคาที่เอื้อมถึงได้นั่นเอง

ทั้งนี้ สำหรับคนที่เข้ามาเป็นเชฟบนแพลตฟอร์ม ระบบจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  แต่จะคิดในวันที่เชฟเปิดครัวและมีรายได้เข้ามาแล้วเท่านั้น

โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มยังมาจากหลายช่องทาง เช่น การรับจัดมื้ออาหารว่าง หรือการร่วมมือกับทางโรงแรมจัดอบรมการทำอาหารไทยให้ชาวต่างชาติ หรือการจัดมหกรรมอาหาร เป็นต้น ซึ่งคุณวินิจมองว่าการมีแพลตฟอร์มกลางสำหรับรวบรวมเชฟนั้น ทำให้ WeChef Thailand สามารถต่อยอดได้อีกมากมายเลยทีเดียว