สตาร์ทอัพอิสราเอล คิดค้นเทคโนฯ ต่อสู้ fake news

19 July 2018 Startups

ต้องยอมรับว่าการต่อสู้กับ Fake News ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับแบรนด์ และมีการประเมินกันว่า Fake News นั้นคือภัยเบอร์ต้นๆ ของแบรนด์ในทุกวันนี้เลยทีเดียว

ข่าวดีก็คือ ได้มีสตาร์ทอัพรายหนึ่งจากอิสราเอล ชื่อ Cyabra Strategy ที่ออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์อีกครั้ง โดย Cyabra บอกว่า ทีมงานของพวกเขานั้น ส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และหน่วยงานด้านอัจฉริยภาพของกองทัพอิสราเอล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการจับพฤติกรรมผิดปกติบนโซเชียลมีเดีย เช่น การปลอมภาพโปรไฟล์ อะวาตาร์ หรือบ็อทต่าง ๆ

จากความสามารถนี้ พวกเขาแสดงออกมาผ่านการพัฒนาอัลกอริทึมโดยใช้ Deep Learning และบิ๊กดาต้าในการตรวจจับข้อมูลผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้บนโลกอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีของ Cyabra จะพิจารณาจากโปรไฟล์ และค้นหาปัจจัยต่างๆ ที่อาจแปลความได้ว่า โปรไฟล์นั้นๆ ถูกปลอมขึ้นมา เช่น วันที่ในการสร้างโปรไฟล์ ถ้ามันถูกสร้างขึ้นมาไม่นานก็มาโปรโมตแคมเปญแล้ว ก็เป็นไปได้ว่า โปรไฟล์นั้นๆ อาจมีเจตนาที่ไม่สุจริต หรือประวัติการใช้งานโปรไฟล์ หากถูกสร้างมาแค่ไม่กี่วัน แต่มีคนบนอินเทอร์เน็ตกดธงแดงเพื่อแสดงว่าต้องการแบน ก็ไม่ใช่สัญญาณที่ดี และข้อสุดท้ายก็คือ มีมนุษย์จริงๆ เข้ามาใช้งานโปรไฟล์นั้นๆ มากน้อยแค่ไหน

“ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาบนโลกออนไลน์จะต้องทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้ติดตามได้ ไม่ว่าจะเป็นบน Google+, บล็อก หรืออีเมลแอคเคาน์ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มีการใช้งานเฟซบุ๊กแต่เพียงอย่างเดียว” เซนดิ แฟรงไจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cyabra กล่าว และนั่นทำให้ระบบอัลกอริทึมของบริษัทสามารถจำกัดการโจมตีด้วย Fake News ได้ภายใน 1 – 2 วัน ซึ่งแฟรงไจได้เปรียบเทียบอัลกอริทึมของเขากับการทำงานของนักวิเคราะห์มืออาชีพว่า ต้องใช้นักวิเคราะห์ระดับท็อปถึง 20 คน ทำงานนาน 6 วัน จึงจะสามารถค้นหาข้อมูลระดับนี้ได้ ซึ่งผลก็คือ เขามองว่าอัลกอริทึมของเขาสามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้มากกว่า ในฐานะที่ช่วยธุรกิจให้รอดพ้นจากการโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จได้อย่างรวดเร็ว

Cyabra ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาภายใต้ทีมงาน 9 ชีวิต และสามารถระดมทุนได้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น เมื่อต้นปีนี้ โคคาโคลาก็ได้เลือกให้ Cyabra ติด 1 ใน 12 สตาร์ทอัพที่ได้เข้าร่วมโครงการเดอะบริดจ์ (The Bridge) ซึ่งเป็นโครงการในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงพาณิชย์ของบริษัทด้วย

“Cyabra ถือได้ว่าเปิดตัวได้ถูกจังหวะ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้” รามิ เบน-บารัก ที่ปรึกษาอาวุโสของ Cyabra และอดีตรองผู้อำนวยการของ Mossad หน่วยงานด้านอัจฉริยภาพของรัฐบาลอิสราเอลกล่าว

“Fake News เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างแท้จริง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นภัยอันดับหนึ่งต่อระบอบประชาธิปไตยและโลกตะวันตก ที่ทำให้เราต้องระมัดระวังมากขึ้นว่า เหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวเรานั้น เกิดจากการโน้มน้าวของคนบางกลุ่มที่ปลอมตัวมาหรือไม่”

ทั้งนี้ เบน-บารักได้ยกตัวอย่างแคมเปญจำนวนมากที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด และมีผลเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 รวมถึงกรณีของเคมบริดจ์ อะนาไลติกาที่แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่บริษัทด้านการตลาดสามารถดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานออกไปได้ และนำไปสู่การสอบสวนครั้งใหญ่กับเฟซบุ๊กโดยสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

นอกจากนั้น แฟรงไจยังได้ยกตัวอย่างของผู้บริหารเป็ปซี่-โคอย่าง อินทรา นูยี ที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 โดยอ้างอิงถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า พนักงานผู้หญิงที่ไม่ใช่คนผิวขาว หรือพนักงานกลุ่ม LGBT ของเธอนั้นกังวลเกี่ยวกับความแตกแยกในสังคมที่มาจากนโยบายของทรัมป์ ซึ่งข้อความนี้ได้ถูกหลายเว็บไซต์นำไปปรับแต่งในเชิงลบ และทำให้เกิดการบอยคอตสินค้าของเป๊ปซี่ รวมถึงทำให้หุ้นบริษัทตกลงด้วย ซึ่งแฟรงไจกล่าวว่า หากซีอีโอของเป๊บซี่-โคได้ทราบว่า เธอกำลังถูกโจมตีโดยใช้ Fake News อยู่ เธอจะสามารถใช้สื่อชี้แจงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


อ้างอิง: Techinasia.com