InsKru สตาร์ทอัพสายการศึกษา ตัวช่วยใหม่เพิ่มทีเด็ดเทคนิคการสอนให้ครู

3 October 2018 Startups

สตาร์ทอัพหลายเซ็คเตอร์ ไม่ว่า FinTech, PropTech, TravelTech, MarTech, หรือ InsureTech ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา pain point ที่ธุรกิจดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ และนอกเหนือจากนั้นคือเป้าหมายเพื่อการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดด

แต่การเกิดขึ้นของ EdTech หรือสตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นการแก้ pain point และตอบโจทย์ที่ระบบการศึกษาเดิมๆ ไม่สามารถทำได้แล้ว การสร้างให้ธุรกิจสามารถทำเงินหรือมีผลตอบแทนทางธุรกิจนั้นยังเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

EdTech ส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นจากใจล้วนๆ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านการศึกษา ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

InsKru สตาร์ทอัพด้านการศึกษาเกิดขึ้นเพื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ครูทั้งหลาย (Ins มาจาก inspire, Kru ก็คือครู)

โดยเว็บไซต์ InsKru เปิดพื้นที่ให้ครูทั้งหลายได้แบ่งปันไอเดียเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ และการสร้าง engagement กับนักเรียน ซึ่งเป็นนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงมัธยมปลาย โดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะรายวิชา

“ทุกวันนี้คุณครูต้องเตรียมแผนการเรียนการสอน ซึ่งต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าเราทำผ่านเพจง่ายๆ และแชร์กันให้ครูคนอื่นๆ เห็นแนวทางที่ทำให้สนุกและง่ายขึ้น ก็จะช่วยครูได้มาก” ศิวกร ธิติศักดิ์สกุล ผู้ร่วมก่อตั้งของ InsKru กล่าว

โดยในเพจของ InsKru จะมี list ไอเดียให้ครูสามารถเลือกวิชาที่สอน ซึ่งจะมีรายละเอียดสั้นๆ อ่านง่าย อ่านสนุก คนที่อ่านแล้วสามารถให้ความเห็นหรือ feedback กลับได้เช่นกัน

ศิวกรบอกว่าการศึกษาของไทยมีความไม่เท่าเทียมกันสูงมากระหว่างโรงเรียน ส่วนสาเหตุที่ InsKru เจาะกลุ่มเป้าหมายครู เพราะครูเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ครูต้องทำงานหนักมาก ถ้าเข้าถึงทรัพยากรที่สอนเด็กได้ ก็ง่ายกว่าการเจาะถึงกลุ่มนักเรียน เนื่องจากครู 1 คน สอนนักเรียนหลายคน การ scale ขนาดให้ใหญ่ขึ้นก็ทำได้ง่ายกว่า

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของ InsKru คือผู้มีประสบการณ์ในอาชีพครู และมองเห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากระบบการศึกษาของประเทศ จึงมีแนวคิดที่จะทลายข้อจำกัดของการศึกษาไทยผ่านกลไกของสตาร์ทอัพ

หลังจากเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการได้ 5 เดือน ปัจจุบันมีครูที่ลงทะเบียนกับ InSkru แล้วมากกว่า 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาอ่าน และครูที่เข้ามาเขียนและแชร์แนวทางการสอนมีประมาณ 50 คน ส่วนเพจเฟซบุ๊กของ InsKru มีผู้ติดตามกว่า 20,000 ราย

InsKru ได้รับเงินลงทุนจาก StromBreaker Venture โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ EdTech ซึ่งมองเห็นว่าแนวทางของ InsKru มีประโยชน์ต่อสังคมไทย อย่างไรก็ตาม โดยตัวของเว็บไซต์ InsKru เอง ก็กำลังมองหา business model ที่จะทำให้เว็บสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

“เรากำลังเริ่มมองกลุ่ม homeschool โดยการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะ Premium Content ซึ่งเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่ปัจจุบันเปิดให้ใช้ฟรี ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่มีกำลังซื้อ และมองเห็นความสำคัญของการศึกษาทางเลือก” ศิวกรกล่าว