เบื้องหลังการต่อสู้ของซัมซุงในการจัดการซัพพลายเชนทั่วโลก

22 May 2020 Startups

กลุ่มอิเลคทรอนิคส์ใช้บทเรียนของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในอดีต มาแก้ปัญหาวิกฤตไวรัสโคโรน่า

ประเทศเกาหลีเริ่มต้นเดือนพฤษภาคมด้วยเทศกาลวันหยุด การผ่อนคลายมาตรการระยะห่างทางสังคมและการเริ่มต้นฤดูใหม่ของการแข่งขันเบสบอลทำให้ผู้คนรู้สึกว่าชีวิตกำลังจะกลับมาเหมือนปรกติ แต่การทำงานอย่างหนักเพื่อติดตามการระบาดของ Covid-19 ของทีมผู้บริหารอาวุโสของบริษัทซัมซุงในอาคารสำนักงานและโรงงานในเมืองซูวอน ทางตอนใต้ของกรุงโซล เป็นสัญญาณเตือนว่าความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากไวรัสตัวนี้ยังไม่จบสิ้น

“Covid-19 ยังคงแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งผู้คน บริษัทและหลายประเทศต่างล้วนได้รับผลกระทบ ซึ่งเราต่างไม่ควรนิ่งนอนใจ” คิม ซอก กี หัวหน้าทีมต่อสู้ไวรัสโคโรน่าของซัมซุงกล่าว ในขณะที่เกาหลีใต้ต่างได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางในการจัดการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ ซัมซุงซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและจออิเลคทรอนิคส์ รายใหญ่ที่สุดของโลกก็ไม่มีรายงานว่าได้รับความเสียหาย

การล็อคดาวน์ทั่วโลกยังคงสร้างผลกระทบต่อเครือข่ายการผลิตและการค้าปลีก ขณะเดียวกันความต้องการที่ลดลงก็ส่งผลอย่างมากต่อภาพรวม “แต่ก็เห็นได้ชัดว่ายังไม่เกิดผลกระทบทางการผลิตต่อซัมซุงมากนัก” ซานจีฟ รานา นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของซีแอลเอสเอ ในกรุงโซลกล่าว

การตัดสินใจและดำเนินการโดยนายคิมนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกๆ บริษัทตั้งทีมงานและเริ่มเตรียมพร้อมทันทีหลังจากที่มีรายงานว่าเกาหลีใต้พบคนติดเชื้อ Covid-19 คนแรกในวันที่ 20 มกราคม แม้ว่าในขณะนั้นรัฐบาลจะยังคงมองว่าภัยดังกล่าวยังเป็นเรื่องเล็กน้อยและธุรกิจควรมุ่งเน้นเรื่องของการเติบโต

“ความกังวลที่ใหญ่สุดของเราคือการติดเชื้อในครั้งที่สองสามารถเกิดขึ้นได้ภายในโรงงาน ซึ่งถ้าไวรัสเกิดระบาดในโรงงานได้แล้วล่ะก็ ปัญหาใหญ่หลวงจะตามมา” คิมกล่าว

ส่วนหนึ่งของชัยชนะในช่วงแรกๆ คือการประเมินความสามารถของอุปกรณ์ที่จะป้องกันระดับพื้นฐาน ด้วยตระหนักดีว่าซัพพลายต่างๆจะหายาก จึงมีความพยายามที่จะดำเนินการทั่วโลกเพื่อไม่ให้ขาดแคลนอุปกรณ์และทีมวิศวกรของบริษัทก็ติดต่อโรงงานซัพพลายเออร์เพื่อช่วยเหลือและเร่งการผลิต

บทเรียนจากโรคระบาดซาร์สและเมอร์ส ทำให้บริษัทรีบติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิและกล้องอินฟราเรดเพื่อวัดอุณหภูมิของพนักงานที่ทางเข้า คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการรักษาความสะอาด การรักษาระยะห่างและการแยกตัวก็มีการประกาศใช้ทั่วโลก

“ประมาณ 4-8 สัปดาห์ก่อนจะเกิดระบาดครั้งใหญ่ในยุโรปละสหรัฐอเมริกา โรงงานของเราทั้งในและต่างประเทศก็เตรียมพร้อมต่อสู้กับไวรัสแล้ว” คิมกล่าวและว่า “แม้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จะหายากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะขาดแคลนอุปกรณ์ดังกล่าว”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเกาหลีใต้เผชิญกับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อปริมาณมากจากการระบาดจากบุคคลที่ไปโบสถ์คริสต์ในเมืองแดงกู ต่อมาพนักงานของซัมซุง 11 คนติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาอาศัยอยู่ในอาคารเขตอุตสาหกรรมกูมิ ใกล้เมืองแดงกู เขตอุตสาหกรรมเป็นที่อยู่ของธุรกิจการผลิตสินค้าอิเลคทรอนิคส์และชิ้นส่วน รวมทั้งสมาร์ทโฟนของซัมซุง ซึ่งธุรกิจโมบายของบริษัทคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ 190 พันล้าดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว

โรงงานต่างๆถูกบังคับให้ทำงานแบบออฟไลน์เป็นเวลาหลายวัน เพราะบริษัทต้องฆ่าเชื้อและหาว่ามีใครบ้างที่ติดเชื้อแล้ว

“สิ่งที่ยากมากสำหรับบริษัทคือการบล็อคทุกๆคนไม่ให้ออกไปนอกเขตบริษัท เพราะกลับเข้ามาก็จะนำเชื้อเข้ามาติดได้” คิมกล่าวว่าเขาใช้ระบบความปลอดภัยภายในเพิ่มซ้อนระบบการตรวจวัดการติดเชื้อของทางการขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งโดยผูกเข้ากับประวัติทางการแพทย์ ข้อมูลสถานที่ในโทรศัพท์มือถือ การใช้บัตรเครดิต รวมทั้งภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งทำให้บริษัทสามารถตรวจสอบพนักงานย้อนกลับไปได้ว่าแต่ละคนไปที่ไหน อยู่ที่ไหน ซึ่งทุกคนต้องติดป้ายชื่อก่อนเข้าสำนักงาน ก่อนเข้าโรงอาหาร หรือโดยสารรถเดินทาง

ขณะเดียวกัน การปิดพรมแดนประเทศก็เป็นการสกัดการเคลื่อนไหวของสินค้าและผู้คน กลางเดือนกุมภาพันธ์บริษัทใช้วิธีขนส่งชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดผ่านทางเครื่องบินแทนรถบรรทุกไปยังประเทศเวียดนามและจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเพื่อให้ทันกับเวลาที่ถูกเลื่อนไปจากการปิดพรมแดนทางบก

และเมื่อเร็วๆนี้โดยการช่วยเหลือของรัฐบาลเกาหลีใต้ บริษัทก็ได้รับอนุญาติจากสถานฑูตต่างประเทศให้สามารถจัดเทียวบินเพื่อส่งวิศวกรไปยังโรงงานต่างๆทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญบางคน รวมทั้งนักวิเคราะห์จากแมคคินซี ประเมินว่าวิกฤตไวรัสโคโรน่าจะปรับระบบซัพพลายเชนทั่วโลก โดยการย้ายฐานการผลิตให้มาอยู่ใกล้ตลาดมากขึ้น

แต่ผู้บริหารซัมซุงแย้งว่าการมีแหล่งผลิตหลายๆแห่ง ทำให้ซัมซุงมีความคล่องตัวและสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทก็ไม่ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแผนธุรกิจแต่อย่างใด ซึ่งการให้ความสำคัญกับเรื่องของความต่อเนื่อง ส่งผลให้การตัดสินใจเมื่อต้นเดือนมีนาคมในการย้ายการผลิตสมาร์ทโฟนบางส่วนจากเมืองกูมิไปเวียดนามก็ถูกยกเลิกในที่สุด เพราะการคุกคามจากไวรัสในเกาหลีใต้ลดลง

รานา นักวิเคราะห์จากซีแอลเอสเอก็ชี้ว่า ระบบการผลิตคอมพิวเตอร์ชิปแบบออโตเมชั่นขั้นสูงของซัมซุง บวกกับการย้ายระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนออกจากจีนไปหลายปีแล้วนั้นเป็นส่วนสำคัญสองประการที่ช่วยขับเคลื่อนรายได้ของบริษัท ซึ่งต่างกับแอปเปิล ธุรกิจสมาร์ทโฟนของซัมซุงไม่ได้พึ่งพาโรงงานประกอบชิ้นส่วนในจีนมากนัก เพราะส่วนใหญ่การประกอบชิ้นส่วนจะทำในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ดังนั้นซัมซุงจึงมีเวลาในการเตรียมมาตรการป้องกันและรับมือ

 

Reference:  Financial Times