ยุโรปเสียงแตกเรื่องแอปพลิเคชั่นติดตามบุคคล

14 May 2020 Technology

มาตรฐานเทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นติดตามบุคคลของแอปเปิลและกูเกิลน่าจะได้รับการยอมรับมากกว่าที่แต่ละประเทศในยุโรปจะพัฒนาระบบของตัวเอง

นักธุรกิจหญิงนั่งยูโรสตาร์เดินทางจากลอนดอนเพื่อไปประชุมที่ปารีส นักปั่นจักรยานจากเจนีวาไปเที่ยวหมู่บ้านอันซีในฝรั่งเศส ครอบครัวชาวอิตาลีเดินทางไปพักผ่อนที่ชายฝั่งริเวียร่า

ทริปเดินทางเหล่านี้มีบางอย่างที่เหมือนกันคือเมื่อหลายประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังจากวิกฤต Covid-19 แต่ผู้คนไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐเก็บข้อมูลพวกเขาแม้ว่าแอปพลิเคชั่น จากสมาร์ทโฟนจะช่วยติดตามคนที่ติดเชื้อไวรัสได้ก็ตาม

นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นติดตามบุคคลเผยว่า ข้อผิดพลาดเกิดจากการทำงานที่ไม่สอดประสานกันของหลายประเทศและการขาดความเป็นผู้นำของสหภาพยุโรป

ความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและผู้พัฒนาคอมพิวเตอร์ในการสร้างโปรโตคอลของยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม ตอนแรกเหมือนจะไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดเนื่องจากหลายปัจจัยด้วยกันตั้งแต่มุมมองในเรื่องผลประโยชน์ของชาติที่แตกต่างกัน วิธีการมองเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ไม่เหมือนกันและสุดท้ายคือการประกาศตัวของยักษ์ซอฟต์แวร์แอปเปิลและกูเกิลเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่จะออกระบบที่พวกเขาออกแบบร่วมกัน

“่น่าเสียดายที่เราทำไม่สำเร็จ ถ้ามีระบบที่ใช้งานได้ในทุกที่ ยุโรปจะเปิดพรมแดนได้เร็วขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้” ไอเมริล ฮอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีผู้ให้คำปรึกษาด้านแอปพลิเคชั่นแก่ฝรั่งเศสกล่าว

ที่ผ่านมาสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและนอร์เวย์เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นเองเพื่อให้ทางการสาธารณสุขมีข้อมูลและสามารถควบคุมได้มากขึ้น ขณะที่เยอรมัน อิตาลี ไอร์แลนด์ ออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ สนับสนุนมาตรฐานแอปเปิล-กูเกิล ส่วนสเปนยังคงไม่ได้ตัดสินใจ

ซึ่งอาจมีแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น ถ้าบริษัทเทคโนโลยีและประเทศตที่มีความแตกต่างและตกลงกันได้หรือทุกประเทศเห็นชอบแนวทางของแอปเปิลกูเกิล

กรุงบรัสเซลส์พยายามผลักดันข้อตกลง แต่การประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของรัฐมนตรีเทเลคอมและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องยังมีความเห็นไม่ตรงกัน

ทั้งนี้ ความพยายามที่จะสร้างระบบแพน-ยุโรป เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคมโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันต่างๆ เช่น เอนริอาของฝรั่งเศสและฟราวน์โฮเฟอร์ของประเทศเยอมัน เริ่มเจรจาแนวทางที่จะติดตามไวรัสซึ่งน่าจะเป็นที่ยอมรับได้สำหรับชาวยุโรปที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวมากกว่าการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลโดยไม่สนใจเรื่องความเป็นส่วนตัวแบบในเอเซีย

โดยพวกเขาหารือกันว่าข้อมูลอะไรบ้างที่ควรจะเก็บและจะเก็บอย่างไรและจะทำให้มีความปลอดภัยอย่างไรทั้งปลอดจากแฮคเกอร์และการสอดส่องจากรัฐบาล

ในวันที่ 1 เมษายน คณะได้แถลงความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ 130 คนจาก 8 ประเทศ ว่าจะสร้างชุด “มาตรฐาน เทคโนโลยีและบริการ” ที่เรียกว่า ชุดติดตาม PEPP-PT (Pan-European Privacy-Preserving Proximity Tracing) ซึ่งจะไม่เก็บข้อมูลตำแหน่ง แต่จะดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรปอย่างเคร่งครัดและทุกประเทศใช้งานร่วมกันได้

แต่เบื้องหลังความพยายามนี้ก็มีความตึงเครียดที่ว่าแอปพลิเคชั่นจะทำงานอย่างไรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลอะไรบ้างที่ควรจะส่งเข้าฐานข้อมูลกลางซึ่งดูแลโดยหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติ

ตัวอย่างเช่น ในประเทศเยอรมันในช่วงแรกนักวิจัยเห็นว่าแอปพลิเคชั่นควรจะเสริมกับหน่วยงานรัฐในการติดตามโรคระบาดโดยใช้คนทำงาน แต่ก็จำเป็นต้องมีแนวทางรวมศูนย์ว่าข้อมูลอะไรบ้างที่จะแบ่งปันกับนักระบาดวิทยา โดยฝรั่งเศสต้องการให้ทางการสาธารณสุขสามารถควบคุมบางส่วนได้

ในขณะที่ประทศอื่นเห็นว่าโครงสร้างแบบกระจายศูนย์เหมาะสมกว่าเพื่อลดความเสี่ยง เพราะรัฐบาลต่างก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้บางส่วนอยู่แล้วและเมื่อวันที่ 3 เมษายน คณะทำงานกลุ่มนี้ก็ได้เผยแพร่โปรโตคอลของพวกเขาที่เรียกว่า DP3T (Decentralised Privacy-Preserving Proximity Tracing)

“ความไม่ราบรื่นเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว มีความไม่ลงรอยกันในกลุ่มนักวิจัย” มาร์เซล ซาลาเท นักวิทยาศาสตร์จาก เอโคล โปลีเทคนิค เฟเดรัล เดอ โลซานน์ (École Polytechnique Fédérale De Lausanne) ซึ่งทำงานในกลุ่ม PEPP-PT และช่วยเขียนโปรแกรม DP3T กล่าว กลุ่มนี้ตั้งขึ้นเมื่อแอปเปิลและกูเกิลบอกว่าจะเปิดตัวระบบกระจายศูนย์คล้ายๆกับ DP3T “นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง” เจ้าหน้าที่อีกคนกล่าว และแน่นอนกลุ่มประเทศที่ใช้โมเดลรวมศูนย์ก็ไม่มีความคิดว่าแอปพลิเคชั่นควรจะทำงานเชื่อมกับ API ของแอปเปิลและกูเกิลหรือไม่อย่างไร

ทีมเยอรมันและฝรั่งเศสระดมยิงคำถามใส่บริษัทผ่านวิดีโอคอลล์และได้รับคำตอบว่ามีเพียง API เดียว ซึ่งนั้นอาจทำให้งานของพวกเขาล่มได้ “ในกลุ่มความร่วมมือของเราค่อนข้างจะช็อค” ชาวเยอรมันคนหนึ่งในโครงการกล่าวและกล่าวเสริมว่าความพยายามที่จะหว่านล้อมให้แอปเปิลและกูเกิลรองรับระบบของพวกเขาก็ล้มเหลว

และในไม่ช้าออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ก็ประกาศว่าพวกเขาจะใช้แอปพลิเคชั่นของแอปเปิล-กูเกิล เยอรมันก็ตัดสินใจมาร่วมด้วย นักการเมืองรวมทั้ง เจนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขไม่ต้องการให้แอปพลิเคชั่นของพวกเขาตกขบวนถ้ากูเกิลและแอปเปิลปฏิเสธที่จะสนับสนุน ต่อมาอิตาลีเองก็เดินทางเส้นทางนี้

มาร์เกร็ท เวสท์เกอร์ กรรมาธิการของอียู กล่าวชักชวนให้ประเทศต่างๆ มาใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralised Storage) เพื่อให้มั่นใจว่าแอปพลิเคชั่น สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มมาในแนวทางนี้

แต่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรยืนยันจะทำแอปพลิเคชั่นของตัวเอง ทั้งที่กังวลว่ามันจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งเกิดขึ้นกับสิงคโปร์และออสเตรเลียประสบมาแล้ว โดยจากระบบการติดตามข้อมูลที่ทำงานได้ไม่สมบูรณ์และยังกินแบตเตอรี่อย่างมาก

ซาลาเทประหลาดใจกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ”ผมหวังว่าเมื่อแอปเปิลและกูเกิลทำสำเร็จแล้ว ความพยายามที่จะให้ระบบของทุกประเทศทำงานร่วมกันได้จะเกิดขึ้นได้จริง” “ตรงกันข้ามกลับเกิดความขัดแย้งแปลกๆด้วยคำพูดของบางคนว่า เราจะไม่ยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มาสั่งเราได้ นี่ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีหรือการทำให้ถูกต้องอีกต่อไป แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องการเมือง”

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะเปิดตัวแอปพลิเคชั่น ความสำเร็จในการคิดค้นก็จะยังคงเป็นไปได้ ทีมฝรั่งเศส-เยอรมันได้ยื่นอีกหนึ่งโปรโตคอลให้กับกูเกิลและแอปเปิลเมื่อเร็วๆนี้ โดยหวังว่าจะช่วยผ่อนคลายความกังวลประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ก็ถูกปฏิเสธ

ฝรั่งเศสจะทดลองออกแอปพลิเคชั่นของตัวเองสัปดาห์หน้า ในขณะที่สหราชอาณาจักรก็กำลังทดลองของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็พัฒนาอีกแอปพลิเคชั่นหนึ่งโดยใช้มาตรฐานอิงกูเกิล-แอปเปิล

“เราไม่ได้ต่อต้านแอปเปิลและกูเกิล แต่เราไม่ต้องการถูกบังคับให้ใช้เทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งด้วยนโยบายภายในของบริษัท” เซดริค โอ รัฐมนตรีด้านกิจการดิจิทัลของฝรั่งเศสกล่าวและว่า “รัฐต่างๆ ควรสามารถสร้างทางเลือกของตัวเองในเรื่องสำคัญ นี่คือประเด็นเกี่ยวกับอธิปไตยของรัฐ”

 

Reference: Financial Times