เทคโนโลยีสาธารณสุขในประเทศยากจน

29 May 2020 Technology

การขาดแคลนเงินทุนส่งผลให้ทรัพยากรทางการแพทย์ขาดแคลน การเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนายังถือเป็นเรื่องยากลำบาก

การเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนายังถือเป็นเรื่องยากลำบาก ในปี 2016 ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุขของรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ยังต่ำมากหรือเพียง 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนเท่านั้น แม้จะมีการปรับค่าครองชีพบ้างแล้วก็ตาม เปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งได้รับมากถึงกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน

การขาดแคลนเงินทุนทำให้ทรัพยากรทางการแพทย์ขาดแคลน ในขณะที่แพทย์มีภาระหนักอึ้งที่ต้องดูแลคนป่วยจำนวนมาก หลายประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ไม่มีแม้แต่แพทย์เพียงคนเดียวต่อจำนวนคนไข้ 10,000 คน ในขณะที่สหราชอาณาจักร สัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้มีเพียง 1 ต่อ 28 เท่านั้น

จีน่า ลาโกมาร์ซิโน่ ประธานบริหาร รีซอทส์ ฟอร์ ดีเวลลอปเมนต์ องค์กรไม่แสวงหากำไรกล่าวว่า “การที่จะได้บุคคลากรที่ผ่านการอบรมระดับสูงมาทำงานในพื้นที่ชนบทเหล่านี้นับเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการจะไปอยู่ในเมืองใหญ่เพื่อที่ว่าลูกหลานของพวกจะได้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ”

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสามารถช่วยลดความตึงเครียดของแพทย์และแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น ประโยชน์ของคอลเซนเตอร์ทางการแพทย์ ที่รองรับการให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์มือถือได้เพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าในประเทศกำลังพัฒนาเมื่อเทียบกับเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยคนไข้พูดกับเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมพื้นฐานทางการแพทย์ซึ่งมีระบบการตัดสินใจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นผู้ช่วย ถ้าเป็นกรณีเร่งด่วนหรือซับซ้อน คนไข้ก็สามารถต่อสายตรงไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่อย่างนั้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถให้คำแนะนำการดูแลพื้นฐานซึ่งสามารถเข้าถึงได้จากบ้านหรือร้านขายยา

วิธีการนี้ได้ถูกนำมาใช้โดยบาบีลอน บริษัทผู้ให้บริการด้านสุขภาพทางระบบออนไลน์ เมื่อครั้งติดตั้งบริการสาธารณสุขในประเทศรวันดา โดยการทำงานร่วมกับรัฐบาล คอลเซนเตอร์ของบาบีลอนในกรุงคิกาลีเมืองหลวงของรวันดารองรับคนไข้ได้ถึงวันละ 3,000 คน ซึ่งแม้ว่าคนไข้จะอยู่ในเมืองหลวง แต่ 70 เปอร์เซนต์ของผู้ใช้งานอาศัยอยู่นอกเมือง

เทรซี แมคนีล รองประธานด้านการกำกับดูแลทางคลีนิคของบาบีลอนกล่าวว่า ความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุขนั้นเพิ่มขึ้นโดยการใช้กระบวนการคัดกรองด้วยมาชีน เลิร์นนิ่งและแช็ตบอท แต่ในประเทศที่อัตราแพทย์ต่อคนไข้ต่ำและจำนวนการใช้โทรศัพท์มือถือก็ต่ำเพราะประชากรจำนวนมากไม่สามารถซื้อมือถือและจ่ายค่าแพ็คเกจได้

ด้วยบริบทดังกล่าว คนไข้สามารถเข้าถึงบริการได้โดยผ่านบุคลากรสาธารณสุขชุมชน อาการป่วยรวมทั้งการอ่านค่าต่างๆ เช่น ความดันโลหิตและอุณหภูมิ สามารถส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัยได้ผ่านทางอิเลคทรอนิคส์ ในเคสที่ไม่ร้ายแรง ระบบเอไอสามารถวินิจฉัยอาการเหล่านี้ได้และการสั่งจ่ายยาก็ทำได้ในพื้นที่ ซึ่งแมคนีลอุปมาอุปไมยให้เห็นภาพว่า “เหมือนคุณกำลังเอาสมองของแพทย์ใส่ในมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข”

ถ้าระบบเก็บประวัติอิเลคทรอนิคส์เหล่านี้สามารถขยายขึ้นไปและเชื่อมกับระบบอื่นๆ เพื่อสร้างเป็นระเบียนคนไข้และประวัติการใช้ยาของคนไข้ได้อย่างสมบูรณ์ การจัดการกับโรคต่างๆ จะสามารถทำได้ในเชิงรุกมากขึ้นและทำได้ในระดับประเทศด้วย

ลาโกมาร์ซิโน่กล่าวว่าเทคโนโลยีทำให้เราสามารถได้ข้อมูลของอาการต่างๆ ของผู้ป่วย แบบเรียลไทม์และในระดับการต่อเชื่อม ข้อมูลนี้ยังทำให้เราเห็นการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นฉับพลันได้ เช่น วัณโรคหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นฆาตรกรตัวสำคัญในประเทศยากจนทั้งหลาย จึงทำให้สามารถพุ่งเป้าการรักษาไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงได้ ลาโกมาร์ซิโน่กล่าวเสริมว่า “ระบบเวชระเบียนอิเลคทรอนิคส์มีความสำคัญยิ่งยวดในการพัฒนาระบบต่างๆ ด้านสาธารณสุขในอนาคต”

Reference: Financial Times