กท.วิทย์ฯ ตั้งเป้า ตลาดรัฐสร้างรายได้ 30,000 ล้านให้สตาร์ทอัพไทยใน 3 ปี

2 October 2018 Startups

จบไปอย่างสมบูรณ์กับงานสตาร์ทอัพแฟร์ “Government Procurement Transformation” ที่จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งเป็นความพยายามสานต่อนโยบายของภาครัฐที่ขับเคลื่อนการเติบโตของ “นักรบในเศรษฐกิจใหม่” ให้รวดเร็วมากขึ้น โดยการสร้างตลาด “ภาครัฐ” เป็นกลจักรการเร่งโต และดึงนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพที่เข้ามาตอบโจทย์การปฏิรูปภาคราชการ พร้อมๆ กับปลดล็อกข้อจำกัด ทะลายพันธนาการการจัดซื้อแบบเดิมๆ

ในงานดังกล่าว มีนิทรรศการโชว์ผลงาน พร้อมเสวนาที่แสดงถึงตัวอย่างความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่ได้เข้าไปช่วยแก้ pain point ให้กับภาครัฐ เช่น การใช้บริการ QueQ ลดเวลาที่คนไข้ต้องรอตรวจรักษาให้กับโรงพยาบาลราชวิถี

ในภาพรวม มีหน่วยงานรัฐกว่า 23 หน่วยงาน จาก 28 สตาร์ทอัพมาให้บริการ  เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยบางส่วนยังมีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานภาครัฐระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA)

อีกทั้งยังมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กับวิสาหกิจเริ่มต้น ระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และธนาคารออมสิน”  และการลงนามความร่วมมือ “โครงการแสดงมหกรรมศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Krabi 2018”

ทั้งนี้ เฉพาะการจัดงาน 2 วัน มีสตาร์ทอัพมาแสดงกว่า 80 สตาร์ทอัพ ใน 7 กลุ่มโซลูชั่น ทั้งด้านความมั่นคงป้องกันประเทศ ด้านภาครัฐดิจิทัล การพัฒนากำลังคน  การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ การพัฒนาท่องเที่ยวส่งเสริมการเรียนรู้ การบริการสาธารณูปโภค และการพัฒนาตลาดในประเทศ คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจและสตาร์ทอัพ รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งเป้าสร้างตลาดรัฐให้กับสตาร์ทอัพไทย 30,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของงบประมาณราชการ

ดึงนวัตกรรมเร่งปฏิรูปภาครัฐ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงานเปิดงานสตาร์ทอัพแฟร์ “Government Procurement Transformation”  กับแนวคิดปลดล็อกข้อจำกัดพัฒนาสตาร์ทอัพสู่ตลาดรัฐว่า นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทยน่าจะสามารถเข้ามาช่วยปฏิรูประบบราชการในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาการให้บริการกับประชาชน

นอกจากนั้น รัฐจะเป็น “ตลาดสำคัญ” ที่จะช่วยเร่งการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพไทยด้วย เนื่องจากภาครัฐเน้นความน่าเชื่อถือคุณภาพการให้บริการ ก็จะเป็น “Reference” ให้กับลูกค้าอื่นๆ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้นได้

ปัจจุบัน รัฐเร่งผ่านกฎหมาย Regulatory Sandbox เพื่อให้สตาร์ทอัพเอสเอ็มอีได้ทดลองการให้บริการและพัฒนาสินค้ากับภาครัฐ โดยไม่ต้องกังวลกับข้อจำกัดระเบียบราชการ ซึ่งจะทดลองในพื้นที่เฉพาะส่วนก่อนในเวลาหนึ่ง เพื่อให้หน่วยงานเกิดความมั่นใจ หลังจากนั้น หากพบว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ ก็จะมีการเขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลงานราชการแบบใหม่ (new TOR)

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เสริมว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และอื่นๆ จัดทำบัญชีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและปรับปรุงเกณฑ์อ้างอิงพิเศษ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดจัดซื้อภาครัฐ จากนั้น NIA จะได้ทำการอบรมการเขียนเกณฑ์อ้างอิงแก่เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อไป

จากการสำรวจหน่วยงานราชการ พบความต้องการภาครัฐเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือภาครัฐที่ต้องการพัฒนาบริการของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่เช่น big data, artificial intelligence, chatbot, และ IT inspector

กลุ่มสอง ภาครัฐจัดซื้อแล้วแต่ไม่มีผู้ดำเนินการ โดยทำให้รัฐต้องคืนเงินงบประมาณปีละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบที่สตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีสามารถให้บริการได้ แต่ไม่ทราบว่ามีโครงการ และอาจขาดคุณสมบัติการเข้า e-bidding ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

กลุ่มสาม ได้แก่ กลุ่มตลาดทั่วไปที่เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพต้องแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งอาจขาดคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล

ทั้งนี้ มีตัวอย่างน่าสนใจจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ เทศบาลเมืองมีโมเดลการจัดซื้อพิเศษให้กับสตาร์ทอัพ รวมถึงในอินเดีย ที่จัดทำ startup portalให้หน่วยงานราชการ

NIA เชื่อมั่นว่า การปลดล็อกตลาดภาครัฐให้กับสตาร์ทอัพ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้สตาร์ทอัพมีความสามารถเติบโตในตลาดในประเทศได้ และจะช่วยต่อยอดให้ลูกค้าภาครัฐเป็น “site reference” อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเอกชนมากขึ้นอีกด้วย