กูเกิลเตรียมมอบเงิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่โครงการ AI เพื่อสิ่งดีๆ

2 November 2018 Technology

บริษัทกูเกิลประกาศว่าจะมอบเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้าทั่วโลกแก่โครงการด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นตัวสร้างหรือตัวเร่งความพยายามนั้นๆ

“ความท้าทายด้าน AI” จุดประกายให้องค์กรต่างๆ ร้องขอให้กูเกิลเข้าไปช่วยด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งในรูปแบบของ AI ซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อประเมินหรือจับรูปแบบและความผิดปรกติต่างๆ

ทั้งนี้ คู่แข่งกูเกิลอย่างไมโครซอฟท์และอเมซอนต่างก็มีโครงการ “AI เพื่อความดี” เช่นกัน

สำหรับกูเกิลแล้ว การมุ่งเน้นโครงการด้านมนุษยธรรมสามารถช่วยบริษัทในเรื่องการรับคนเข้าทำงานและช่วยแก้วิกฤตต่างๆ โดยชี้ให้เห็นว่าความสนใจในแมชชีนเลิร์นนิ่งสามารถขยายไปได้กว้างขวางในสาขาต่างๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลัก และด้านการทหาร ซึ่งหลังจากที่มีพนักงานกูเกิลวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการร่วมมือกับกองทัพอเมริกาในเรื่องการพัฒนาโดรน กูเกิลก็กล่าวว่าจะไม่มองเรื่องการวิเคราะห์โดรนของกองทัพ

ทั้งนี้ ไอรีน่า คอฟแมน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการเทคโนโลยีเอไอ ได้กล่าวกับรอยเตอร์สว่า สิ่งนี้ไม่ใช่การถอยกลับ แต่เป็นเพราะพนักงานนับพันๆ คนของกูเกิลตั้งใจที่จะทำโครงการดีๆ ด้านสังคม แม้ว่าจะไม่เป็นการสร้างรายได้เลยก็ตาม

กูเกิลได้แสดงถึงโครงการปัจจุบันที่คล้ายๆ กัน หนึ่งในนั้นคือคอมพิวเตอร์ของกูเกิลที่ช่วยจับสัญญาณปลาวาฬหลังค่อมได้แม่นยำถึง ร้อยละ 90 จากการบันทึกเสียงใต้น้ำที่รวบรวมโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเวลา 170,000 ชั่วโมง

ในอดีต สัญญาณเสียงดังกล่าวต้องวิเคราะห์ด้วยมือเท่านั้น ซึ่งแอน อาเลน นักนิเวศวิทยาแห่งกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า  นี่เป็นครั้งแรกที่ชุดข้อมูลสามารถทำงานในวิถีทางที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งการวิเคราะห์รูปแบบต่างๆ สามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามนุษย์สร้างผลกระทบอย่างไรต่อการอพยพของปลาวาฬ ซึ่งในที่สุดการวิเคราะห์ทางเสียงแบบเรียลไทม์จะสามารถช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เรือชนกับปลาวาฬได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาวาฬกล่าวว่า ยังมีช่องว่างของข้อมูลอยู่อีก เนื่องจากวาฬไม่ได้ส่งสัญญาณตลอดเวลา และการจะให้เรือใช้ข้อมูลตำแหน่งของสัตว์จำเป็นต้องมีกฎระเบียบใหม่ๆ

จูลี แคทเทียว ผู้จัดการผลิตภัณฑ์กูเกิลเพื่องานปลาวาฬกล่าวว่า กูเกิลมีแผนที่จะสร้างซอฟต์แวร์ปลาวาฬเพื่อช่วยเสริมการทำงานขององค์กรต่างๆ โดยกูเกิลจะไม่คิดเงินค่าเครื่องมือเหล่านั้น แม้ว่าผู้ใช้จะใช้เครื่องมือเหล่านั้นร่วมกับบริการคลาวด์แบบเสียเงินของกูเกิลก็ตาม

แจ็คการีน ฟูลเลอร์ รองประธาน Google.org ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงกำไรของกูเกิลกล่าวว่าใบสมัครของโครงการความท้าทายด้านผลกระทบนี้จะปิดรับภายในวันที่ 20 มกราคม และการตัดสินจะพิจารณาจากคุณประโยชน์ ความเป็นไปได้ และหลักปฏิบัติด้านจริยธรรม และในปีนี้ Google.org ได้พิจารณาให้ทุนด้วยเครื่องมือทางด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีผู้สมัครจำนวนมากโดยเฉพาะในแถบแอฟริกา