Facebook ชี้ 4 เทรนด์หลักในกลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

24 October 2018 Lifestyle

Facebook ประเทศไทย เผยผลศึกษาเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง (Emerging Middle Class) ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อพฤติกรรมและรูปแบบการซื้อที่เปลี่ยนไปของคนกลุ่มนี้ การสำรวจครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี และอำเภอบ้านนาสาร โดยเน้นถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง และนำเสนอข้อมูลให้กับกลุ่มธุรกิจในประเทศไทยสำหรับการมองหาโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่กลุ่มนี้ได้

ทั้งนี้ Facebook ชี้ 4 เทรนด์หลักที่พบในกลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • การเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง ผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางจะต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งข้อมูล และสามารถเลือกที่จะมีตัวตนและอัตลักษณ์ที่ทันสมัย โดยยังยึดถือคุณค่าทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
  • การเลือกเข้ากลุ่มทางสังคม พื้นที่บนโลกออนไลน์ได้หลอมรวมผู้คนเข้าไว้ด้วยกันด้วยความสนใจหรืองานอดิเรกที่เหมือนกัน โดยไร้ข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ทางกายภาพและสถานที่ ชุมชนบนโลกออนไลน์ยังสามารถช่วยหล่อหลอมทัศนคติ พฤติกรรม และมุมมองต่อโลกได้อีกด้วย
  • การเลือกตามความฝัน ภาวะเศรษฐกิจสังคมซึ่งจากเดิมเป็นข้อจำกัดของโอกาส แต่พื้นที่บนโลกออนไลน์ช่วยให้ความมุ่งหวังกลายเป็นความฝันที่เป็นจริงได้
  • การเลือกเติมเต็มความสุข กลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางมีความซับซ้อนมากขึ้นในพฤติกรรมการใช้จ่าย รวมไปถึงวิธีหรือช่องทาง คนกลุ่มนี้จะเลือกซื้อสิ่งที่เติมเต็มความสุขของพวกเขา ได้แก่ ความงาม การท่องเที่ยว ประสบการณ์ และสินค้าแบรนด์ต่างๆ

มร. จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน การแพร่หลายของสื่อดิจิทัลช่วยเปิดโลกแห่งโอกาสให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และใส่ใจในสิ่งที่พวกเขาซื้อมากยิ่งขึ้น ผู้คนในภูมิภาคนี้มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น การที่เราจะเติบโตไปพร้อมกับประชาชนกลุ่มใหม่กลุ่มนี้ได้ ภาคธุรกิจต้องมองหาโอกาสในการปรับกลยุทธ์และค้นหาวิธีที่จะเติบโตไปพร้อมกับคนกลุ่มนี้

“เราต้องการที่จะสำรวจอย่างจริงจังว่าโลกดิจิทัลเปลี่ยนชีวิตของกลุ่มที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ของประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด ประชากรกลุ่มนี้เข้าถึงเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมต่อสมาร์ตโฟน ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และโลจิสติกส์ที่มากยิ่งขึ้น และยังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อการพัฒนาและเติบโตในหลายๆ มิติ สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดที่เราเห็นคือ การที่คนไทยใช้ช่องทางดิจิทัลในการแสดงออกถึงตัวตนและสร้างอนาคตที่ดีขึ้น” มร.แวกเนอร์กล่าว

ประชากรชนชั้นกลางจำนวน 49 ล้านคนของประเทศไทยนั้น นับเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของการเติบโตอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภายในปี 2022 จะมีประชากรชนชั้นกลางจำนวน 350 ล้านคน และรายได้ในครัวเรือน 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2017 ถึง 2022 เทคโนโลยีทำให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกรอบตัวเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าการใช้จ่ายผ่านมือถือจะสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่โลจิสติกส์บนอีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้นถึง 7,500 – 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2022

ทั้งนี้ในแง่ของธุรกิจที่รองรับกลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง จากการสัมภาษณ์นักธุรกิจชั้นนำทั่วภูมิภาคร้อยละ 77 เห็นตรงกันว่า กลุ่มผู้บริโภคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญมาก ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 15 ที่คิดว่าธุรกิจของตนมีกลยุทธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มนี้แล้ว (ผลิตภัณฑ์ การตลาด และยอดขาย/การกระจายสินค้า)

การศึกษาดังกล่าว Facebook ได้ทำงานร่วมกับ Bain & Company และ Quantum ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์เพื่อทำการสำรวจในกลุ่มผู้บริโภค 12,000 คน ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 80 คน ภายในที่พักอาศัยของพวกเขาจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการสัมภาษณ์กับกลุ่มผู้บริโภคอีกจำนวน 160 คน การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุม 16 เมืองทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้