“เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์” ประกาศลบแอคเคานท์นับพันในอิหร่าน-เวเนซุเอลา-รัสเซีย

7 February 2019 Lifestyle

ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ประกาศลบแอคเคานท์นับพันรายบนแพลตฟอร์มทิ้ง โดยอ้างว่าแอคเคานท์เหล่านั้นเชื่อมโยงกับการทำแคมเปญที่ไม่เหมาะสมบางประการของอิหร่าน เวเนซุเอลา และรัสเซีย ขณะที่นักวิเคราะห์ยังคงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทโซเชียลมีเดียทั้งสองรายนี้ใช้ในการตรวจสอบ

โดยทางฝั่งเฟซบุ๊ก นาธาเนียล เกลเชอร์ (Nathaniel Gleicher) หัวหน้าฝ่ายนโยบายด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ได้โพสต์ในบล็อกว่า บริษัทได้ทำการลบแอคเคานท์ เพจ และกลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดความเคลื่อนไหวบางอย่างในอิหร่านไปแล้ว 783 ราย และอีก 162 แอคเคานท์บนอินสตาแกรม โดยพบว่า เพจเหล่านี้มีการจ่ายเงินประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อลงโฆษณา และจัดอีเวนต์บนเฟซบุ๊กไปถึง 8 ครั้ง ซึ่งสร้าง Reach ผู้คนได้ราว 2 ล้านราย ซึ่งเกลเชอร์เรียกพฤติกรรมนั้น ๆ ว่า เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การทำเช่นนี้ทำให้เฟซบุ๊กถูกตั้งข้อสงสัยว่าบทบาทของเฟซบุ๊กคืออะไร เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลอิหร่านเกินไปหรือไม่ และสิ่งที่ผู้คนจะแชร์ได้บนเฟซบุ๊กจะต้องมาจากข่าวหรือคอนเทนต์จากฝ่ายรัฐบาลอิหร่านแต่เพียงอย่างเดียวหรือเปล่า ซึ่งเกลเชอร์ได้อธิบายในส่วนนี้ไว้ว่า เฟซบุ๊กไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใด ๆ ของรัฐบาลอิหร่าน

“เราได้พิสูจน์และมั่นใจว่าคอนเทนต์เหล่านี้มาจากอิหร่าน และมีผู้อยู่เบื้องหลังอยู่ในอิหร่าน” เกลเชอร์กล่าว พร้อมระบุว่าในบล็อกเหล่านั้นมีข้อมูลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ความขัดแย้งระหว่างซีเรียกับเยเมน รวมถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย อยู่เต็มไปหมดด้วย โดยเฟซบุ๊กมีผู้ให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบข้อมูลอย่างสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากนาโต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยช่วยเฟซบุ๊กจัดการปิดเพจของทางรัสเซีย และแอคเคานท์ของทีมงานที่กระจายอยู่ในยุโรปตะวันออก ประเทศในแถบคอเคซัส และตะวันออกกลางไปได้หลายร้อยรายเช่นกัน

แต่ไม่ใช่แค่เฟซบุ๊กที่ปิดเพจและแอคเคานท์เหล่านั้นได้ เพราะทวิตเตอร์เองก็ประกาศว่าบริษัทได้ปิดแอคเคานท์ 2,617 ราย ที่เชื่อมโยงกับอิหร่านไปเช่นกัน ที่น่าสนใจก็คือพวกเขาระบุว่ามีการทำงานร่วมกันด้วย โยล ร็อท (Yoel Roth) หัวหน้าฝ่าย Site Integrity กล่าวในบล็อกว่า บริษัทต้องการเผยให้เห็นว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งการตรวจสอบนี้ได้รับคำแนะนำจากบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน (เขาใช้คำว่า Industry peer) และในการตรวจสอบ ทวิตเตอร์ก็พบเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับที่เฟซบุ๊กเจอ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทวิตเตอร์ยืนยันได้ก็มีเพียงการบอกว่าแอคเคานท์เหล่านั้นมีจุดกำเนิดมาจากอิหร่าน สำหรับแอคเคานท์ของรัสเซีย ทวิตเตอร์ปิดไปประมาณ 418 แอคเคานท์ โดยอ้างว่าพฤติกรรมของแอคเคานท์เหล่านั้นมีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของแอคเคานท์บริษัท IRA (Internet Research Agency) ของรัสเซีย แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าแอคเคานท์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับ IRA อย่างไรเช่นกัน ทวิตเตอร์ยังปิดแอคเคานท์ในเวเนซุเอลาไปอีก 1,960 ราย โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกไม่สามารถระบุได้ว่ามีจุดกำเนิดหรือถิ่นที่ตั้งในเวเนซุเอลาจริง 764 แอคเคานท์ และกลุ่มที่ 2 พบว่ามีส่วนร่วมในแคมเปญที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนในเวเนซุเอลา อีก 1,196 ราย

แต่เมื่อถามถึงหลักฐานแล้ว ก็ยังมีน้อยมากที่จะยืนยันได้ถึงความเกี่ยวข้องเช่นกัน ความกังวลของนักวิเคราะห์จึงเป็นเรื่องที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้มักสามารถตรวจจับได้ถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติ แคมเปญที่ไม่เหมาะสมในประเทศที่สหรัฐอเมริกามีข้อขัดแย้ง หรือมีสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่ความผิดปกติในการลงโฆษณาที่เกิดในสหรัฐอเมริกาเองกลับไม่สามารถตรวจสอบได้

ยกตัวอย่าง เพจ Sputnik ได้เคยรายงานว่า เมื่อปี 2017 มีการทำแคมเปญโดยผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตในแอละแบมา และมีการใช้เงินสูงมากในระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์ นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรมของผู้สนับสนุนพรรคการเมืองพรรคหนึ่งปลอมเป็นสมาชิกของพรรคฝ่ายตรงข้าม และทำทั้งเพจปลอม ข่าวปลอม จัดอีเวนต์ปลอม เพื่อหลอกให้คนในแอละแบมาหลงเชื่อมาแล้ว