เน็ตฟลิกซ์ว่าไง เฟซบุ๊กเริ่มทดสอบบริการชมวิดีโอร่วมกันแล้วบนเมสเซนเจอร์

22 November 2018 Lifestyle

ดูท่าว่าเน็ตฟลิกซ์จะไม่สามารถพักสบายๆ ได้เสียแล้ว เมื่อเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ เริ่มทดสอบบริการรับชมคอนเทนต์ร่วมกันบนแพลตฟอร์มแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์สามารถชมภาพยนตร์ร่วมกันภายในกลุ่ม และสามารถแชทถึงกันเกี่ยวกับวิดีโอที่กำลังรับชมได้ด้วย

สำหรับฟีเจอร์นี้ในเบื้องต้น ปรากฏในชื่อว่า “Watch Videos Together” แต่ยังไม่มีการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นการทดสอบภายในก่อน ผู้ที่ค้นพบว่ามีฟีเจอร์ดังกล่าวคือ Ananay Arora ผู้ก่อตั้ง Timebound แอปพลิเคชันด้านการบริหารจัดการ และ Jane Manchun Wong จากเทคครันช์ การเข้าใช้งานฟีเจอร์นี้ทำได้ผ่านแท็บ “Tap to watch together now” นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์ชื่อ “Chat about the same videos at the same time” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นอกจากรับชมวิดีโอพร้อมๆ กันแล้ว พวกเขายังแชทถึงกันได้ด้วย และทุกๆ คนที่รับชมวิดีโอนี้อยู่จะสามารถควบคุมการเล่นของวิดีโอได้ รวมถึงเห็นด้วยว่า ใครบ้างที่กำลังดูอยู่

ล่าสุด เฟซบุ๊กได้ออกมายืนยันแล้วว่า กำลังทดสอบฟีเจอร์ดังกล่าวจริง แต่เป็นการภายใน จึงไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับฟีเจอร์นี้ได้มากนัก อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมาจากฟีเจอร์นี้ก็คือ ประสบการณ์ในการใช้งานฟีเจอร์จะเป็นอย่างไร ผู้ชมจะไปหาไฟล์วิดีโอจากที่ไหนมารับชมร่วมกัน รวมถึงจะเข้าสู่กระบวนการการรับชมร่วมกันได้อย่างไร ต้องเข้าผ่านเฟซบุ๊กหรือไม่ หรือต้องแชร์วิดีโอนั้นบนเมสเซนเจอร์ ซึ่งหากอยากให้มันเวิร์กจริงๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่เฟซบุ๊กจะหาพาร์ทเนอร์เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอ เช่น ยูทูบ การพัฒนาฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมวิดีโอร่วมกันได้นั้นยังหมายถึงช่องทางรายได้ของเมสเซนเจอร์ เช่น อาจมีโฆษณาให้รับชมก่อนเข้ารายการ หรือมีคลิปโฆษณาแทรกระหว่างการรับชม ซึ่งในท้ายที่สุด เราอาจมองได้ว่า เฟซบุ๊กพยายามหาทางให้เมสเซนเจอร์และอินสตาแกรมทำรายได้ให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา การเติบโตด้านรายได้ค่าโฆษณาบนเฟซบุ๊กเริ่มคงที่ และการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กก็ทำให้พื้นที่บนนิวส์ฟีดแสดงผลโฆษณาได้น้อยลงด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการรับชมร่วมกันไม่ใช่เพิ่งถูกคิดค้น ก่อนหน้านี้ ยูทูบเคยทดลองทำผ่านบริการชื่อ Uptime แต่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว ด้านฌอน ปาร์คเกอร์ อดีตประธานบริษัทคนแรกของเฟซบุ๊กก็เคยทดลองบริการนี้แต่ล้มเหลวเช่นกัน ซึ่งไม่แน่ว่า การนำฟีเจอร์นี้มาใช้บนเมสเซนเจอร์อาจเป็นทางออกของปัญหา เพราะผู้ใช้งานสามารถส่ง URL ของวิดีโอได้ถึงกันโดยตรงผ่านบริการแชทนั่นเอง

อ้างอิง: TechCrunch