กฟผ. เล็งหาเทคโนโลยี รับมือ Digital Transformation

2 June 2018 Technology

ถึงแม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะถูกเรียกขานว่าเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศ แต่ในเชิงธุรกิจก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง แข็งแกร่ง สามารถนำส่งรายได้ให้ประเทศได้

ภายใต้ทิศทางการเติบโตของการใช้ไฟฟ้า ท่ามกลางกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทางเลือก  กฟผ. จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อให้แข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) ได้

“ซึ่งนั่นคือต้องพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ของการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าที่เน้นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้มีขนาดกำลังการผลิตเล็กลงแต่ยังมีต้นทุนที่แข่งขันได้ กฟผ. จึงได้มองหาเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้า ที่สามารถตอบโจทย์การรับมือ Digital Transformation ที่สมบูรณ์แบบ” ดร.สมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ [Dr. Somchai Chokmaviroj, assistant director of Renewable and New Energy Research and Business Development Division, Electricity Generating Authority of Thailand (EGAT)] กล่าว

ดังนั้น กฟผ.จึงต้องปรับปรุงและติดตามนวัตกรรมด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบพลังงานเพื่อภาคสังคมและภาคพลังงาน หรือ Innovate power solution for Thailand community and energy sector

ภายใต้กรอบที่ว่าเทคโนโลยีที่กฟผ.ต้องมองหา ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Renewable Energy Firms) การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงพลังงานจะได้เตรียมความพร้อม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตยิ่งขึ้น

และยังมีระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยี Digital Smart Grid Technology ทำหน้าที่ส่งไฟฟ้าจากผู้ให้บริการไปยังผู้ใช้บริการด้วยระบบการสื่อสารสองทางเพื่อควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า ณ บ้านของผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ Digital Smart Grid จะเป็นตัวหลักที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตหรือ Smart City ตามกระแสโลกและเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล

สุดท้ายคือทั่วโลกมีการพูดถึงเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) รัฐบาลมีการพูดถึงการพัฒนาโครงการ Bioeconomy ที่จะสร้างจากฐานล่างสุดก่อนหรือสาธารณูปโภคพื้นฐาน นั่นคือพลังงาน มาสู่ฐานที่ 2 ชีวเคมี ฐานที่ 3 การพัฒนาไปสู่อาหารคน-อาหารสัตว์ และฐานที่ 4 คือยา

สำหรับอย่างแรก รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตพลังงานทดแทนอยู่แล้ว โดยกระทรวงพลังงานประกาศจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอีก 20 ปีข้างหน้าชัดเจนมาก และเมื่อฐานที่ 1 มีความพร้อม ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่ฐานถัดไปได้

“หากเราสามารถพัฒนาได้ตามภารกิจทั้งห้านี้ได้ กฟผ. ก็จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรับมือ Digital transformation ได้ทั้งหมด” ดร.สมชายกล่าว

นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ กฟผ. เข้าสนับสนุนการพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่ โดยการร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่จะนำความช่วยเหลือไปถึงมือสตาร์ทอัพ เพื่อให้โอกาสสตาร์ทอัพได้คิดค้นเทคโนโลยี เข้าสู่การพัฒนา Deep Tech และสุดท้าย สิ่งที่สตาร์ทอัพคิดค้นได้จะตอบโจทย์ของ กฟผ. ได้