วิกฤติ Covid-19 ดัน EdTech โต

14 May 2020 Startups

วิกฤต Covid-19 หนุนสตาร์ทอัพ EdTech เติบโตรองรับการเรียนทางไกล นักลงทุนแนะปั้นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ให้ปัง ต้องผสานบันเทิงและความรู้ โฟกัสกลุ่มเฉพาะ

นางสาวจันทนารักษ์ ถือแก้ว ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Storm Breaker Venture โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านการศึกษา เปิดเผยว่าขณะนี้สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียนประถมมัธยมจนถึงระดับมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนมีความตื่นตัวและให้ความสนใจการเรียนการสอนทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยสถานการณ์ Covid-19 จึงทำให้ สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีด้านการศึกษา หรือ EdTech เติบโตก้าวกระโดด นักลงทุนต่างให้ความสนใจให้เงินทุนสนับสนุน

อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายทางธุรกิจสูง  เพราะแม้จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนให้ผลิตแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ แต่ในช่วงเริ่มต้นเป็นการให้บริการแบบใช้ฟรีเพื่อดึงดูดยอดผู้ชมผู้ติดตาม ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพ EdTech ต้องลงทุนเองไปก่อน เช่น ระบบคลาวด์คอมพิวต์ติ้ง บุคคลากรด้านไอที เครื่องมืออุปกรณ์ หรือ ซอฟต์แวร์ต่างๆ แม้จะระดมทุนได้ในช่วงนี้ แต่ต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะได้รับเงินทุนจริง ดังนั้นสิ่งที่อยากเตือนสตาร์ทอัพ คือ การบริหารจัดการกระแสเงินสดทั้งจากเงินทุนตัวเอง หรือจากการะดมทุนต้องระมัดระวังและรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องกระแสเงินสด

“เทรนด์เรียนออนไลน์มาแล้ว ดึงดูดให้นักลงทุนกลุ่มใหม่ๆ เริ่มหันมามองสตาร์ทอัพ EdTech มากยิ่งขึ้น ยิ่งการศึกษาเป็นรากฐานของสังคม หากนวัตกรรมดีจริง ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาได้จริง ยิ่งมีผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมทำให้ความเสี่ยงของเงินลงทุนต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะมีฐานผู้ใช้ที่แน่นนอน ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ที่ต้องแข่งขันทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้ใช้” นางสาวจันทนารักษ์ กล่าว

นางสาวจันทนารักษ์แนะว่าการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้ สิ่งสำคัญคือรูปแบบการนำเสนอต้องผสมผสานระหว่างความบันเทิงและความรู้ คือน่าสนใจติดตามเหมือนกับดู Netflix แต่เป็น Netflix ด้านการศึกษา ดึงดูดความสนใจจากผู้เรียนให้อยู่กับบทเรียนได้นาน เช่น เล่นเกมส์ สื่อการ์ตูน การทดลองวิทยาศาสตร์ที่บ้าน โดยเนื้อหาต้องเข้าใจง่ายและครูผู้สอนต้องสอนสนุกมีลูกเล่นแพรวพราว แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ ควรมีเนื้อหา เน้นเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น แพลตฟอร์ม Opendurian คอร์สสอนติวเตรียมสอบโอเน็ต เน้นการเข้าใจ เทคนิค สูตรลัด และสามารถทำข้อสอบได้จริง

นอกจากนี้การมีส่วนร่วม (Engagement) จากผู้เรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะยิ่งเด็กเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน มีสิ่งล่อใจเบี่ยงเบนความสนใจแตกต่างจากการเรียนในชั้นเรียน ดังนั้นบทบาทพ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญอย่างมากที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยผู้ปกครองต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม เดิมอาจจะยุ่งกับการทำงาน และมองว่าการเรียนรู้ของลูกเป็นหน้าที่หลักของครูและโรงเรียน แต่สถานการณ์ Covid-19 แม้แต่ผู้ปกครองเองยังต้องทำงานจากที่บ้าน Work from Home ย่อมมีเวลาให้ลูกมากขึ้น จึงควรมามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ระดับจังหวัดมีความได้เปรียบด้านศักยภาพในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางอินเตอร์เน็ตมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะการเรียนออนไลน์ โครงสร้างพื้นฐานต้องพร้อม เช่น ไวไฟ อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ กลุ่มเด็กด้อยโอกาสทางสังคมอาจเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์

เบื้องต้นทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมจัดงบประมาณสนับสนุนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television Station) หรือ DLTS มาสนับสนุนกลุ่มเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ให้เข้าถึงการศึกษา พร้อมกับดึงโรงเรียนในเครือข่ายเข้ามามีบทบาทดึงพ่อแม่ผู้ปกครองมาร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมย่อมจะทำให้การเรียนออนไลน์ประสบผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมาย คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง