สตาร์ทอัพรักษามะเร็งในสุนัข ระดมทุน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Andreessen Horowitz

29 January 2019 Startups

องค์กรศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับโรคมะเร็งในสุนัข (National Canine Cancer Foundation) ชี้ว่าสุนัขทุก 1 ใน 3 ตัวล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเมื่อเร็วๆ นี้ OneHealth สตาร์ทอัพซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งในสุนัข ได้ทำการระดุมทุนรอบ Seed  เป็นจำนวนเงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากกองทุน Bio Fund นำโดยบริษัทร่วมทุน Andreessen Horowitz ร่วมด้วยบริษัท VC จากนิวยอร์กอย่าง Lerer Hippeau (LH) และ seed accelerator ชื่อก้องอย่าง Y Combinator โดย One Health มุ่งหวังให้มนุษย์ทำการรักษาโรคมะเร็งในสุนัขได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตสุนัข

“เราพบอุบัติการณ์และความชุกของโรคมะเร็งในสุนัขมากยิ่งกว่าในคน” คริสติน่า โลเปส (Christina Lopes) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ OneHealth ให้สัมภาษณ์กับ TechCrunch

ผลิตภัณฑ์ FidoCure ของ OneHealth ถูกออกแบบมาเพื่อให้การรักษาโรคมะเร็งในสุนัขนั้นเป็นเรื่องเข้าถึงได้และไม่แพงจนเกินไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีถอดรหัสยีน (next-generation gene sequencing) ทำความเข้าใจกระบวนการกลายพันธุ์ระดับยีน อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในสุนัข โดย FidoCure จะให้คำแนะนำ เสนอแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าของสุนัข ทั้งยังทำให้พวกเขาเห็นภาพผลการรักษาซึ่งเป็นไปได้ที่ดีที่สุด รวมทั้งแนวทางการรักษาที่ควรใช้

“เป้าหมายของบริษัทเราคือการปฏิบัติได้จริง” โลเปสกล่าว และว่า “การทดสอบถือเป็นก้าวแรก จากนั้นหากมีกระบวนการกลายพันธุ์บางอย่างเกิดขึ้น เราจะบอกว่ามียาตัวไหนที่ FDA อนุมัติและมีข้อมูลการใช้ในสุนัข ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาได้ จากนั้นเราจึงทำงานกับพันธมิตรด้านยา และร้านยาที่ปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายตามใบสั่งแพทย์”

หากสุนัขได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง สัตวแพทย์อาจแนะนำให้เจ้าของสุนัขใช้ผลิตภัณฑ์ของ OneHealth  อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงต้องพาสุนัขของตนไปพบสัตวแพทย์อยู่ดี เนื่องจาก OneHealth “เป็นพันธมิตรเต็มตัวกับเหล่าสัตวแพทย์” โดยสัตวแพทย์จะต้องได้เห็นตัวสัตว์ที่ป่วยจริง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ยาที่แนะนำให้ใช้รักษาสุนัขป่วยด้วยโรคมะเร็ง ก็คือยาคน ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุมัติ แต่เป็นยาซึ่งมีข้อมูลการใช้ในสุนัขด้วยเช่นกัน OneHealth กล่าวว่า บริษัทได้ทุ่มเวลาและเงินศึกษาทำความเข้าใจยากลุ่มนี้ และผลที่เกิดขึ้นกับสุนัข

“เราไม่ได้เป็นผู้พัฒนาตัวยาขึ้นมาใหม่ เราจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อลดช่องว่างเรื่องข้อมูล” โลเปสอธิบาย

OneHealth จะคิดค่าบริการจากสัตวแพทย์โดยตรง ขณะที่สัตวแพทย์จะคิดค่าบริการส่วนนี้จากผู้ป่วยหรือไม่ก็ได้ เธอเผยว่าค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยของสุนัขป่วยด้วยโรคมะเร็ง อยู่ที่ 6,700 ดอลลาร์สหรัฐ และแม้จะบวกกำไรส่วนเพิ่มจากต้นทุนไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็ยังถูกคิดค้นให้มีราคาย่อมเยากว่าค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยที่เจ้าของต้องใช้ในการรักษาสุนัขที่เป็นมะเร็ง

“ความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจเรื่องชีววิทยาโรคมะเร็ง ได้ปฏิวัติวิธีที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง” Jorge Conde หุ้นส่วน A16Z (อีกชื่อหนึ่งของ Andreessen Horowitz) กล่าวในแถลงการณ์

“การค้นคว้าวิจัยยังคงดำเนินไปเพื่อค้นหาความคล้ายคลึงกัน ระหว่างโรคมะเร็งบางประเภทที่พบในสุนัขและในคน OneHealth ไม่เพียงแต่จะได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าเหล่านี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงโดยสิ้นเชิง ทว่าบริษัทยังคงมีโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสุขภาพของมนุษย์เรา เพราะได้พบหนทางที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการจัดการกับโรคร้ายแรงนี้ที่เกิดขึ้นกับสุนัข”

อ้างอิง: Techcrunch.com