ทำอย่างไรจะป้องกันการใช้ข้อมูลของคุณ

26 May 2018 Lifestyle

ก่อนที่โลกเราจะมีอินเทอร์เน็ต เราก็ใช้ชีวิตง่ายๆ จดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวคุณ เบอร์บัตรประชาชน เบอร์พาสปอร์ต เวลาเข้าห้องสมุดไปค้นข้อมูลก็มีคุณรู้อยู่คนเดียวว่าคุณสนใจข้อมูลเกี่ยวกับอะไร เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่คนรู้จัก ทุกอย่างอยู่ในสมุดโน้ตเล่มน้อยที่เป็นลายมือคุณ ซึ่งคุณอาจจะอ่านออกอยู่คนเดียว

จนมีอินเทอร์เน็ต โลกมันดีขึ้นเยอะ ชีวิตเราง่ายขึ้นมาก บางคนจับปากกาไม่เป็นเสียแล้ว ทุกอย่างสะดวกรวดเร็ว ใช้พื้นที่ความจำในสมองน้อยลงมาก แต่สุดท้าย เมื่อไม่นานมานี้เองที่เราเริ่มพบว่ามันเป็นของมีราคา

ทุกครั้งที่เราใช้บริการออนไลน์ เราก็ให้ข้อมูลเขาไปอย่างไม่คิดอะไรมาก แลกกับความสะดวกสบาย แต่ในความจริงคือบริษัทเหล่านี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของคุณไป เขาจะบันทึกทุกการเดินทางท่องเน็ตของคุณ และเข้าไปดูว่าคุณสนใจอะไรเป็นพิเศษบ้าง แล้วก็นำมาวิเคราะห์นิสัย พฤติกรรม ความชอบส่วนตัวของคุณ ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เดี๋ยวนี้จะมีโฆษณาของสินค้าและบริการอะไรก็ตามโผล่มาบนหน้าจอให้คุณเลือกซื้อเลือกใช้ทันทีที่คุณเพิ่งจะเสิร์ชหาเมื่อครู่นี้เอง

เห็นแล้วก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่าถ้าอย่างนั้นเขาจะเอาข้อมูลเราไปใช้ในทางที่ผิดหรือไม่ เรารวบรวมคำแนะนำเบื้องต้นมาให้ เพื่อที่คุณไม่ต้องจำทนอยู่กับความหวั่นใจ

แก้การตั้งค่า: อย่างแรกที่คุณต้องทำคือเข้าตรวจตราการตั้งค่าของคุณในเพจต่างๆ ทั้งที่เป็นโซเชียลมีเดีย และที่เป็นเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงออนไลน์ช้อปปิ้ง โดยเข้าไปเปลี่ยนค่าทุกอย่างให้เป็นส่วนตัวให้หมด ดูหน้าที่เป็นเรื่องความปลอดภัยเลือกระดับความปลอดภัยสูงสุด และดูหน้าโปรไฟล์ตัวเองด้วย แล้วเปลี่ยนให้เป็นไม่อนุญาตให้ใครมาใช้ข้อมูลของคุณได้ ปัจจุบันทุกๆ เว็บไซต์และโซเชียลมีเดียมักมีรายการให้คุณตรวจเช็กได้ว่าหน้าฟีดคุณ โปรไฟล์เป็นอย่างไร หากคนอื่นเข้ามาเปิดดูแล้ว คุณจะรู้ว่าคุณควรเปิดเผยตัวเองได้มากแค่ไหน

อ่านรายละเอียดก่อนเซ็น: เวลาเราเห็นส่วนลด มันก็เหมือนมีแรงดูดให้เราสมัครสมาชิกเข้าใช้บริการของบริษัทพวกนี้อย่างเต็มใจ คราวหน้า เราขอให้คุณตั้งสติ คิดทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพราะคุณกำลังตกลงใจอนุญาตให้เขาได้ข้อมูลส่วนตัวไป ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทั่วไปอย่าง เพศ อายุ การศึกษา ไปจนถึงข้อมูลส่วนตัวมากๆ อย่างเบอร์บัตรประชาชน แล้วก็มีข้อบังคับเงื่อนไขยาวๆ ให้คุณเซ็นยอมรับ ก่อนที่คุณจะเอ็นจอยกับส่วนลดไม่กี่บาท คุณคิดว่าคุ้มค่าไหม

ล็อกอินและล็อกเอาท์โดยตรงที่เว็บนั้น: ความสะดวกสบายที่เว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นอย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก มอบให้ พอเรานึกอยากจะเข้า เราก็คลิกเข้าที่แพลตฟอร์มพวกนี้ เพราะขี้เกียจเสียเวลาพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ตัวยาวๆ ลงไป คลิกผ่านตัวกลางพวกนี้ง่ายกว่า จริงๆ แล้ว คุณกำลังเปิดทางให้พวกเพจและกูเกิลลิงค์เข้าหาข้อมูลส่วนตัวของคุณ คราวหน้าอย่าลืมว่าเสียเวลาเพิ่มไม่กี่นาที เข้าไปล็อกอินตรงที่เวบที่คุณต้องการเลย คุณจะได้ปิดทางแชร์ข้อมูลคุณได้

ร้องเรียนสิคะ รออะไร: นิสัยคนไทยน่ารัก ช่างมันเถอะ สบายๆ แม้กระทั่งรู้ว่ามีคนเอาข้อมูลเราไปใช้ผิดๆ  ความไม่ชินที่จะร้องเรียนเพื่อความถูกต้อง และด้วยวัฒนธรรมไทย แต่หารู้ไม่ว่าการที่คุณรับทราบว่ามีการนำข้อมูลส่วนตัวของคุณไปใช้ในทางที่ผิดแล้วคุณไม่ร้องเรียนหรือไม่ดำเนินการให้หยุดใช้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร นั่นหมายถึงคุณได้ยินยอมพร้อมใจให้เขากระทำการละเมิดคุณได้ ดังนั้น เขาจะใช้สิ่งนี้มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

สุดท้าย คงต้องย้ำเตือนว่าข้อมูลส่วนตัวเป็นของที่คุณต้องใส่ใจปกป้อง ถ้าคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลได้ เช่น การลงทะเบียนออนไลน์ซึ่งต้องใช้ข้อมูลส่วนตัว อย่าลืมบันทึกเป็นหลักฐานว่าคุณไม่ยินยอมให้นำข้อมูลส่วนตัวของคุณไปกระทำการอย่างอื่นได้

Lifestyle-tips to protect your data