เกษตรอนาคตครบวงจรบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม

9 August 2020 Technology

เกษตรนวัตกรรมอนาคต วางแผนการผลิต เพาะปลูก จัดจำหน่ายอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เครื่องจักรเทคโนโลยีการเกษตรทันสมัยราคาถูกเกษตรกรรายย่อยเข้าถึงได้ การซื้อขายอยู่บนตลาดนัดออนไลน์ เกษตรกรมีแบรนด์เป็นของตัวเอง

อัมรินทร์  ดรัณภพ ผู้เชี่ยวชาญเกษตรนวัตกรรม ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่าอนาคตเกษตรนวัตกรรมจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาใช้เพื่อการวางแผนการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ “ต้นน้ำ” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม และภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและดูแลสภาพดินว่าในแต่ละพื้นที่มีแร่ธาตุชนิดใดเหมาะสมแก่การเพาะปลูกพืชประเภทใด แหล่งน้ำในพื้นที่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แหล่งน้ำจากระบบชลประทาน หรือน้ำต้นทุนในเขื่อน แหล่งน้ำแต่ละประเภทปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกหรือไม่ รวมถึงข้อมูลเทคโนโลยีดาวเทียม และภูมิสารสนเทศ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ ศัตรูพืช อุณหภูมิความชื้น ดินและอากาศ พยากรณ์ภัยพิบัติอุทกภัย วาตภัย และภัยแล้ง โดยเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลบนดิจิทัลแพลตฟอร์มผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ 

ตัวอย่างเช่น การปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ทุเรียนภาคตะวันออก และ ทุเรียนภาคใต้ แต่ละสายพันธุ์รสชาติความอร่อยแตกต่างกัน เนื่องจากสภาพดินและภูมิประเทศต่างกัน โดยข้อมูลแต่ละพื้นที่ เกษตรกรแต่ละภาคสามารถเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปวางแผนการเพาะปลูกผ่านทางโทรศัพท์มือถือบนดิจิทัลแพลตฟอร์มของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เช่น สภาพดิน แร่ธาตุ ความชื้น แมลงศัตรูพืช แหล่งน้ำ เป็นต้น 

สำหรับ “กลางน้ำ” เทคโนโลยีการผลิตและดูแลอารักขาพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันและอนาคตราคาจะถูกลงจนเกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น โดรนบินอัตโนมัติเพื่อพ่นยาฆ่าแมลง ใส่ปุ๋ย หรือ หว่านเมล็ดพันธุ์ รวมถึงเครื่องจักรการเกษตรที่ใช้เก็บเกี่ยวมีการพัฒนาทั้งด้านประโยชน์ใช้งานและประสิทธิภาพในราคาที่ต่ำลง เกษตรกรสามารถนำมาประยุกต์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้สูงขึ้น ยิ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรสามารถแบ่งปันหรือลงทุนร่วมกันจัดซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ยิ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต 

นอกจากนี้ “ปลายน้ำ” ในอนาคตดิจิทัลแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์จะได้รับความนิยม เกษตรกรสามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และสามารถสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองเพื่อจำหน่ายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรต้องสร้างเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ คือ ความเชื่อมั่นของสินค้าได้คุณภาพไม่เน่าเสียระหว่างทาง การขนส่งที่สะดวกรวดเร็วตรงเวลา ที่สำคัญระบบการชำระเงินต้องถูกต้องโปร่งใสและสุจริต เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจออนไลน์ เพราะหากสินค้าไม่ได้คุณภาพย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์บนโซเซียลมิเดีย ดังนั้นขณะนี้ทางภาครัฐ อาทิ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงพยายามผลักดันให้เกิดดิจิทัลแพลตฟอร์มสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าเกษตรทางออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรไทย