“โรงพยาบาลดิจิทัล” รักษาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

8 October 2020

แห่งแรกในภาคเหนือ “โรงพยาบาลดิจิทัล” คณะแพทยฯมช.จับมือบริษัทเทคฯระดับโลกพัฒนาระบบดิจิทัลเฮลท์แคร์มุ่งใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการผู้ป่วยวินิจฉัยและรักษารวดเร็วแม่นยำระบบจ่ายยาล้ำสมัยมุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำระบบบริการสาธารณสุข 

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่าแนวทางสร้างประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ให้แก่ผู้ใช้บริการและบุคลากรการแพทย์ ในรูปแบบโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital User Experience) โดยพัฒนา 2 ระบบ ดังนี้ ระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Drug & Medical Equipment Tracking System)เป็นระบบจัดสรรข้อมูลด้านโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงข้อมูลและติดตามสถานะของยากับเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ใน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ สถานบริการเครือข่าย 13 แห่ง ได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณ คลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ ระบบติดตามสถานะการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service Status Tracking System)ผู้ป่วยสามารถเรียกดูข้อมูลสถานะการให้บริการผ่านระบบเครือข่ายไร้สายและโมบายล์แอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาล โดยทราบสถานะการให้บริการ คิวตรวจ รับยา จ่ายเงิน และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-consulting) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และระบบนำทางในโรงพยาบาลยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับบริการที่จุดให้บริการต่างๆ ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เร่งการพัฒนานวัตกรรม เพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 โครงการ ดังนี้ โครงการพัฒนาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis Screening Project)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ดียิ่งขึ้น จึงนำระบบการคัดกรองผู้ป่วยโดยการใช้ AI และ Deep Learning มาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกเบื้องต้น ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงภาพเอ็กซเรย์ความละเอียดสูง และให้คำปรึกษาทางไกลเพื่อแปลผลภาพรังสีทรวงอกกับรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญผ่าน Tele-consulting ระบบที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx ทำให้เกิดความรวดเร็วและความแม่นยำในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาในการวินิจฉัย และให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ระยะแรก ลดค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่จำเป็น และแก้ปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ห่างไกลได้

และ โครงการดูแลผู้ป่วยประคับประคองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล (Tele Palliative Care) โดยการสร้างห้องตรวจและห้องรักษาเสมือนจริง เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล พยาบาลผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์ Mobile Med Device จะเดินทางไปหาผู้ป่วยถึงบ้านเพื่อตรวจสุขภาพ ส่งข้อมูลและสื่อสารทางไกลกับแพทย์ผู้ให้การรักษาแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย พิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx เสมือนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และครบวงจรเทียบเท่ากับการมาโรงพยาบาล และ  โครงการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานโดยเจ้าหน้าที่ อสม. (Diabetes Patient Data & Communication Project) เป็นโครงการปักหมุดยกระดับความรู้ความสามารถของ เจ้าหน้าที่ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอย่างถูกต้อง ติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและรายงานผลเข้ามาในระบบได้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในการที่จะต้องเดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล นำมาสู่การอบรมทางไกล ให้แก่ อสม. ผ่านแพลตฟอร์ม Cisco Webex ซึ่งเป็นทั้ง Smart Learning Platform, Education Connector และระบบให้คำปรึกษาผ่าน Online learning system สำหรับความร่วมมือดังกล่าวมุ่งพัฒนา การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมบริการของโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ รวมถึงเป็นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดทางด้านการแพทย์ในอนาคต โดยมี บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ องค์กรที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตระดับโลกสนับสนุนโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน (Network Infrastructure), เทคโนโลยีที่ใช้ในการวิเคราห์ข้อมูล (Data Analytics), เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), แมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML), ไอโอที (IoT), เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technologies) และเทคโนโลยี SDN (Software-Defined Networking)