Diamate สตาร์ทอัพนักปรับพฤติกรรมคนรักหวาน

24 June 2018 Lifestyle

ปัญหาผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเป็นสิ่งที่แพทย์และนักโภชนาการกำลังวิตกกังวล เฉพาะในประเทศไทยปัจจุบัน มีผู้ป่วยเบาหวานเกือบ 5 ล้านคน และเติบโตในอัตราเกือบร้อยละ 8 ต่อปี ขณะที่ในระดับโลกนั้นมีผู้ป่วยเบาหวานแล้วกว่า 400 ล้านคน

การรักษาเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดในสมอง หรือแผลเบาหวานที่เท้าจนต้องตัดเท้า

“ความท้าทายของโรคนี้คือการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยในการใช้ชีวิต” คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน Diamate แอปพลิเคชันสำหรับช่วยปรับพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวานกล่าว โดยที่ผ่านมา ครอบครัวของคุณพงษ์ชัยมีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานมากถึง 3 ท่าน และจากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเบาหวานนั้น ทำให้คุณพงษ์ชัยทราบว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นก็คือต้องดูแลด้านอาหารการกิน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แต่การจะทำเช่นนั้นให้เห็นผลได้ การเก็บข้อมูลกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ทางทีมผู้พัฒนา Diamate จึงมองว่าการพัฒนาแอปพลิเคชันจะสามารถเชื่อมช่องว่างระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ได้ในระหว่างที่ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน

โดยการทำงานของแอปพลิเคชันนี้ ผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานสามารถใช้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ เพียงส่งค่าระดับน้ำตาลในเลือดเข้ามาในระบบ แอปฯจะแจ้งเตือนในกรณีที่ระดับน้ำตาลผิดปกติ รวมถึงส่งสถิติเหล่านี้ไปให้แพทย์เพื่อรักษาต่อไป นอกจากนั้น ยังสามารถบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการรับประทานอาหารได้ด้วย หรือหากต้องการปรึกษากับทีมสุขภาพของโรงพยาบาลก็มีระบบแชทให้ใช้งานเช่นกัน

Lifestyle-Diamate

กลุ่มเป้าหมายของ Diamate คือคนไข้จากโรงพยาบาล โดยการพัฒนาช่วงแรกนั้น เน้นเจาะกลุ่มไปที่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน แต่หลังจากเปิดตัวมาระยะหนึ่ง ทางทีมงานได้เริ่มขยายตลาดไปยังกลุ่มคนไข้ทั่วไป ไม่ต้องมาจากโรงพยาบาลในเครือข่ายก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเข้ามาในแอปฯ ความพิเศษคือจะมีทีมนักกำหนดอาหาร (มีประกาศนียบัตรรับรอง) คอยให้คำแนะนำด้านอาหารการกินด้วย

“ในแอปพลิเคชัน เราจะให้คนไข้ถ่ายภาพอาหารที่เขาต้องรับประทานแล้วโพสต์ลงมาไม่ต่างจากที่เขาโพสต์บนโซเชียล เมื่อโพสต์ เราจะมีนักกำหนดอาหารคอยให้คำแนะนำว่าอะไรทานได้ อะไรควรลดบ้าง”

“แพทย์จะไม่ค่อยทราบว่าคนไข้อยู่ที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง เวลามาเจอกัน 5 – 10 นาที ผลการรักษาส่วนมากที่ดีขึ้นก็เพียง 30 – 40% ที่เหลือดูแลตัวเองไม่ได้ แต่พอมีตัวนี้ โรงพยาบาลเขาเห็นว่ามันช่วยส่งข้อมูลเข้ามาได้ ยิ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ เรามีอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บข้อมูล ตรวจเลือดปุ๊บส่งข้อมูลไปเก็บในระบบให้เลย หรือคนไข้มีค่าน้ำตาลในเลือดต่ำก็กดปุ่มช่วยเหลือฉุกเฉินได้ผ่านแอปฯ ได้เลย ฟีเจอร์เหล่านี้ดีกว่าโปรแกรมแชตที่ใช้กันทั่วไป”