“CovidTracker: Enterprise” ตัวช่วยหยุดแพร่เชื้อ Covid-19

19 May 2020 Technology

“CovidTracker: Enterprise” เว็บแอปพลิเคชั่นฝีมือสตาร์ทอัพไทยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส Covid-19 พร้อมใช้งานในศูนย์กักตัวของรัฐ โรงพยาบาลและสถานประกอบการที่เตรียมเปิดดำเนินการหลังปลดล็อคดาวน์

พงษ์ชัย เพชรสังหาร ผู้บริหารบริษัท เทรคอน (เว็บไซต์) จำกัด ในฐานะสมาชิกสมาคมเฮลธ์เทคไทยเปิดเผยว่า สมาคมเฮลท์เทคไทยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบดูแลสุขภาพทางไกลสู้ภัยโควิด-19 ด้วยแพลตฟอร์ม “CovidTracker: Enterprise” ซึ่งเป็นเว็บแอปพลิเคชั่นติดตั้งให้องค์กรใช้งานเพื่อติดตามและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส Covid-19 ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการแพทย์ทางไกล (TeleHalth) เข้ามาช่วยแพทย์พยาบาลและโรงพยาบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับสถานการณ์การระบาด Covid-19 เป้าหมายเพื่อติดตามและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงทั้งที่เป็นคนไทย คนไทยที่เดินทางกลับประเทศและคนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ ถือเป็นมาตรการเข้มข้นสำหรับรับมือกับสถานการณ์ Covid-19 ภายหลังที่ภาครัฐประกาศปลดล็อคดาวน์

“CovidTracker: Enterprise” มีกลุ่มผู้ใช้งานหลัก 3 กลุ่ม คือ สถานกักตัวของรัฐ โรงพยาบาลและสถานประกอบการที่กำลังจะเปิดดำเนินการหลังมาตรการล็อคดาวน์

สถานกักตัวของรัฐใช้แอบนี้ในการรายงานสุขภาพของผู้กักตัวด้วยตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสและติดเชื้อ สำหรับโรงพยาบาลใช้ในการติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงให้กับบุคลากร ส่วนสถานประกอบการใช้ติดตามและป้องกันความเสี่ยงของพนักงาน ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจากต่างประเทศซึ่งต้องทำการกักตัว  14 วันเพื่อติดตามอาการในแต่ละวันรวมถึงการตรวจเชื้อตามกำหนด

ทั้งนี้ระบบนี้จะช่วยให้สถานกักตัวบริหารข้อมูลผู้เข้าพักได้ดีขึ้น ตั้งแต่การจอง การคัดกรองและบันทึกข้อมูลสุขภาพรายวัน เช่น อุณหภูมิร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เป็นต้น โดยผู้เข้าพักทำรายงานส่งกรมควบคุมโรค รวมถึงช่วยดูแลพนักงานโรงแรม เพื่อติดตามอาการและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หากมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น ระบบจะแจ้งเตือนทางผู้ดูแลให้สามารถติดตามได้อย่างใกล้ชิด และให้คำแนะนำหรือทำการตรวจเพิ่มเติมได้อย่างทันเวลา โดยปัจจุบันเริ่มนำไปใช้งานในสถานที่ควบคุมโรคของรัฐทางเลือก ( Alternative State Quarantine )

ในส่วนโรงพยาบาล บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลมีความเสี่ยงทั้งเป็นผู้ได้รับเชื้อและผู้แพร่กระจายเชื้อ ระบบออกแบบให้บุคลากรโรงพยาบาลมีช่องทางในการรายงานข้อมูลสุขภาพของตนเอง และหน่วยงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบุคลากรโรงพยาบาล สามารถเฝ้าระวัง ติดตาม รวมถึงให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม รวมถึงช่องทางให้บุคลากร ได้รับคำปรึกษาผ่านระบบแชทกับผู้รับผิดชอบซึ่งเป็นแพทย์หรือพยาบาลได้โดยตรงและระบบแชทบอทสำหรับตอบคำถามเบื้องต้นได้ โดยเริ่มเปิดใช้งานในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐทั้งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน

สำหรับสถานประกอบการนั้น จะใช้ในการติดตามและป้องกันความเสี่ยงของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัย มีระบบรายงานการทำงานและการเดินทางสำหรับพนักงาน มีระบบ Knowledge Management System สำหรับพนักงานในการปฏิบัติตัวและการดูแลตนเอง มีการเชื่อมโยงกับสถานพยาบาลในการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการได้

ขณะนี้ได้ทดสอบระบบใช้กับสถานประกอบการแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลและสถานที่ควบคุมโรคของรัฐทางเลือก

รวมผู้ใช้งานกว่าหมื่นคน มีทั้งผู้กักตัว บุคลากรโรงพยาบาล รวมถึงพนักงานที่ต้องทำงานอยู่กับบ้าน โดยคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานระบบไม่ต่ำกว่า 3 แสนครั้งในปีนี้และหากสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย ระบบจะเพิ่มเติมการใช้งานสำหรับการดูแลโรคทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ป่วยหรือผู้มีความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยตั้งเป้าเป็น Employee Health Portal ที่พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและติดตามสุขภาพของตนเอง ข้อมูลการใช้ยา การแพ้ยา ติดตามอาการ ได้อีกด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.covidtracker.asia หรือ facebook.com/covidtracker.asia/