80% สตาร์ทอัพ รายได้เป็นศูนย์เซ่นพิษ Covid-19

24 April 2020 Startups

Covid-19 พ่นพิษ TTSA คาด 80% ของสตาร์ทอัพ รายได้เป็นศูนย์ สายป่านยาวได้ 3-5 เดือน ก่อนลดพนักงานปิดกิจการ

TTSA ร่อนจม.เปิดผนึกวอนไทยช่วยไทย อุดหนุนสินค้าบริการ พร้อมออกมาตรการการเงินเฉพาะสตาร์ทอัพ เสริมสภาพคล่อง ร่วมสานต่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

“ผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งทำให้รายได้ 80% ของสตาร์ทอัพเหลือศูนย์ เนื่องจากลูกค้าที่หายไปฉับพลัน  ทำให้บางส่วนต้องปลดพนักงานหรือลดเงินเดือน” พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้า เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ Thailand Tech Startup Association (TTSA) เล่าผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ร่วมกับสมาชิกสมาคมมากกว่าหกสิบราย

ปัญหาหลักที่เผชิญ คือสภาพคล่องทางการเงินที่ส่วนใหญ่จะมีเงินทุนเหลือไปต่อได้อีกเพียง 3-5 เดือนข้างหน้า  เนื่องจากต้นทุนของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เป็น เงินเดือนพนักงาน High skilled workforce เฉลี่ยห้าหมื่นบาท

ขณะที่มาตรการที่สนับสนุนทางการเงินที่ภาครัฐดำเนินการอยู่อาจไม่สอดคล้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการได้รับพิจารณาสินเชื่อ โดยสตาร์ทอัพเน้นการลงทุนตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการยังขาดทุน จึงอยากให้การอนุมัติด้านสินเชื่อ พิจารณาถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจ

ทั้งนี้ธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ ถือเป็นกลจักรขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมีสินค้าและบริการเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนภาครัฐ เอกชน และผู้ใช้ทั่วไปได้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัลได้ ทั้งยังสร้างงานที่เป็นทักษะระดับสูงให้กับประเทศ

สมาคมจึงได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกถึงภาครัฐ เพื่อรักษาอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพไทย ด้วยจุดยืนในสามข้อ

ประการแรก  การให้มีมาตรการที่จะสนับสนุนสินค้า และบริการจากภาครัฐ เพื่อให้สตาร์ทอัพ ได้เข้ามามีส่วนร้อยเรียงเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยไม่ได้เพียงภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป สามารถเลือกใช้บิสิเนส โซลูชั่นและบริการต่างๆ จากสตาร์ทอัพไทยที่สามารถสนองตอบทุกความต้องการ “เราอยากเห็นการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เป็นไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”

ประการที่สอง มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง ทั้งทุนให้เปล่า เงินกู้ผ่อนปรน หรือซอฟต์โลน เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากลักษณะธุรกิจอาจไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้แบบปกติได้

ประการที่สาม ออกเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนและควบรวมธุรกิจในสตาร์ทอัพจากธุรกิจขนาดใหญ่ นักลงทุนและผู้ร่วมลงทุนหรือวีซี

“เชื่อว่าหลังวิกฤต Covid-19 จะยิ่งมีการปรับใช้ดิจิทัล เร่งขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ที่รวดเร็วขึ้น การมีแพลทฟอร์มสัญชาติไทย ส่วนหนึ่งช่วยให้เรามีข้อมูลไหลเวียนในประเทศ และเป็นการรักษาอธิปไตยของประเทศ”

ผไท ผดุงถิ่น อดีตนายกสมาคมคนแรก เสริมว่าที่ผ่านมาสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบหลายๆส่วน ทั้งท่องเที่ยว การจัดอีเวนต์และภาคบบริการ ได้พยายามอย่างเต็มที่สุดความสามารถที่จะปรับตัว มองหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายแต่ยังไม่สามารถชดเชยได้มากนัก

ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ สายป่านยังสั้น เมื่อเจอวิกฤตระดับโลกที่กระทบหญ้าอ่อนอย่างแรง ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างทันท่วงที สตาร์ทอัพอาจไปไม่รอด จนลดจำนวนเหลือเพียงครึ่งเดียวและสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาลในวงกว้างที่ส่งผลไปยังคู่ค้าและลูกค้าของสตาร์ทอัพและแพลทฟอร์มต่างชาติที่มีทุนหนาจะได้เปรียบที่จะอยู่รอดและครองตลาดหลัง Covid-19 และไทยเองอาจไม่เหลือนวัตกรรมของธุรกิจในประเทศมากนักและต้องพึ่งพาแพลทฟอร์มเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

วัชระ เอมวัฒน์ อดีตนายกคนที่สองของ TTSA เสริมต่อว่า ในต่างประเทศเช่นเกาหลีใต้ รัฐมีมาตรการสร้าง Digital Boundary ที่จะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้เติบโต หากเหลือเพียงแพลทฟอร์มต่างชาติที่เราต้องพึ่งพา จะมีอำนาจกำหนดราคาสินค้าและบริการที่ยากจะต่อรอง  เช่นกรณีที่ผ่านมา การขึ้นค่า จีพี (Gross Profit) กับร้านอาหารของแพลทฟอร์มบริการส่งอาหาร หากเป็นแพลทฟอร์มสัญชติไทยก็จะสามารถช่วยเหลือพันธมิตรและลูกค้าได้มากขึ้น