บำรุงราษฎร์นำร่องใช้ AI ตรวจการติดเชื้อ

20 October 2018 Technology

บำรุงราษฎร์ โดดนำร่องวิจัยร่วม ไบโอเชีย สตาร์ทอัพเฮลธ์เทคนิวยอร์ก ใช้ปัญญาประดิษฐ์ตรวจการติดเชื้อ ภาวะดื้อยา หวังลดอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วย

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เล่าถึงการร่วมมือกับไบโอเชียว่า จะเป็นการนำร่องวิจัยระยะ 1 ปี จำนวนคนไข้ 1,000 ราย โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีการหาลำดับเบสในสารพันธุกรรมของจุลชีพก่อโรค (next-generation sequencing : NGS) ร่วมกับการสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ให้สามารถระบุชนิด และลักษณะของจุลชีพได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำทันท่วงที ซึ่งลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เกิดจากการข้อจำกัดด้านห้องปฏิบัติการที่ตรวจหาจุลชีพก่อโรคท่ีใช้เวลานาน

เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวนำมาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ การประเมินผลลัพธ์ ตลอดจนการคัดกรองจุลชีพก่อโรคเพื่อเฝ้าระวัง และลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นกับผู้ป่วยถึง 1 ใน 25 รายในปัจจุบัน

ผลลัพธ์จากการนำร่องที่ได้จะใช้สร้างฐานเทคโนโลยีนี้ไว้ที่ศูนย์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ทั้งนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 ราย หรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยา อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท สูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ประเด็นเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญเร่งด่วนทางสาธารณสุข

ขณะที่ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และในอีก 35 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2050) คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ และคิดเป็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท

องค์การอนามัยโลกระบุว่าแนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ (Post-antibiotic era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (Collapse of modern medicine) เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ล้วนแต่ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ

ดร.นีม โอฮารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ไบโอเชีย สตาร์ทอัพดีปเทคที่ได้รับการระดมทุนซีรีส์ C ระบุว่า บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ได้ขยายความร่วมมือในงานวิจัยนี้ เนื่องจากเป็นผู้ปรับใช้เทคโนโลยีกลุ่มแรกๆ (early adopter) และการมีคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษานั้นจะสร้างความหลากหลายของข้อมูลให้เพิ่มขึ้นได้

ไบโอเชียได้คิดค้นการใช้เอไอการตรวจหาจุลชีพก่อโรค ตัวบ่งชี้การดื้อยา และปัจจัยที่แสดงความรุนแรงของเชื้อก่อโรคที่แม่นยำและรวดเร็วกว่าวิธีการโดยทั่วไปที่ใช้กันอยู่   ช่วยลดเวลาในการตรวจหาเชื้อก่อโรค ตัวบ่งชี้การดื้อยา และปัจจัยแสดงความรุนแรงของโรคให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากในอดีตผู้ปฏิบัติการต้องใช้เวลาดำเนินการหลายวันหรือหลายสัปดาห์

ทั้งช่วยให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้น สามารถควบคุมและจัดการการติดเชื้อ ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย การใช้ NGS น่าจะช่วยการตรวจหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อรา ซึ่งการหาประเภทของเชื้อรามีข้อจำกัดการเพาะเชื้อราที่ใช้เวลามากและอาจคลาดเคลื่อนได้ และยังช่วยเร่งตรวจหาวัณโรคได้อย่างรวดเร็วขึ้น