บัวหลวง เวนเจอร์สตั้งเป้าหนุนสตาร์ทอัพไทย

24 May 2018 Investment

เมื่อเอ่ยชื่อบัวหลวงเวนเจอร์ส หลายคนอาจมองว่าเป็นหน้าใหม่ในวงการ venture capital หรือ บริษัทร่วมทุน แต่แท้ที่จริง ธนาคารกรุงเทพได้ลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีในต่างประเทศมานานหลายปีแล้ว แต่มาถึงวันนี้ บัวหลวงเวนเจอร์สในฐานะบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ พร้อมที่จะรุกเข้ามาสร้างเครือข่ายธุรกิจผ่านนักคิดค้นเทคโนโลยีสตาร์ทอัพในประเทศไทย

คุณยาญชัย ตันติรัฐพงศ์ ซีอีโอบัวหลวงเวนเจอร์ส ชี้ว่าบริษัทเห็นโอกาสมากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองในแง่ที่ว่าบัวหลวงเวนเจอร์สสามารถต่อยอดธุรกิจจากสตาร์ทอัพได้อย่างมากด้วยการเชื่อมโยงกับเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพ

ด้วยความที่บริษัทแม่ คือธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยังคงขยายธุรกิจสาขาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายอื่นๆ เลือกที่จะหยุดธุรกิจในต่างประเทศกันเกือบหมดในช่วงที่มีวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ทำให้ธนาคารกรุงเทพมีเครือข่ายและเข้าใจธุรกิจในต่างประเทศค่อนข้างดี

บัวหลวงเวนเจอร์สก่อตั้งด้วยขนาดทุน 2,000 ล้านบาท ใช้ในการร่วมลงทุนกับธุรกิจ SME และบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งในประเทศไทย ส่วนมากเป็นกิจการที่อิงกับแนวโน้มกับภาวะของประเทศ เช่น Aging Society, Tourisim Hub และ Fintech

“ถึงแม้ธนาคารกรุงเทพจะมีการลงทุนในสตาร์ทอัพหลายแห่งในต่างประเทศและทำมานานแล้ว แต่สำหรับบัวหลวงเวนเจอร์สยังถือว่าเป็นรายใหม่ เพิ่งเริ่มได้แค่ปีครึ่ง ดังนั้นเราต้องโปรแอคทีฟ” คุณยาญชัยกล่าว

ธนาคารกรุงเทพนำโดยบิ๊กบอส คุณชาติศิริ โสภณพณิช ให้นโยบายให้บัวหลวงเวนเจอร์สใช้งบประมาณปีละ 500 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพให้ได้ปีละ 2-3 ดีลเป็นอย่างน้อย

ดร. พนุกร จันทรประภาพ กรรมการผู้จัดการ บัวหลวงเวนเจอร์ส อธิบายว่าการลงทุนของที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ธีม ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ธุรกิจท่องเที่ยว และสุดท้ายคือการเงิน

“แน่นอน การเงินหรือฟินเทคเป็นธุรกิจที่ธนาคารกรุงเทพให้ความสนใจที่สุด เนื่องจากสตาร์ทอัพด้านฟินเทคย่อมต้องมาพร้อมกับไอเดียที่ธนาคารสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องคิดซ้ำสอง โดยเฉพาะในระหว่างที่ธนาคารต้องคิดรอบด้านเพื่อหาโมเดลที่ช่วยให้ธนาคารเติบโตต่อไปอย่างมั่นคงได้ท่ามกลางกระแสไหลบ่าของดิจิทัล

ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงวัยและการท่องเที่ยวนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจากแนวโน้มของประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้เราเห็นตลาดชัดเจน ธุรกิจท่องเที่ยวก็เช่นกัน ในปีนี้คาดว่าจะได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 38 ล้านคน ดังนั้น หากสามารถผนวกเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพในด้านนี้เข้ามาได้ ศักยภาพของตัวธุรกิจเองก็ช่วยให้ธนาคารขยายได้อย่างแน่นอน”

บัวหลวงเวนเจอร์สในฐานะกองทุนร่วมลงทุนภายใต้ธนาคารพาณิชย์ นโยบายการเลือกสตาร์ทอัพย่อมต้องหารายที่สามารถสนับสนุนธุรกิจหลักของธนาคารได้ แต่ที่บัวหลวงเวนเจอร์สต่างไปจาก VC ของธนาคารอื่น  ก็คือการมุ่งเน้นที่จะเป็น Strategic Partner มากกว่าการเป็นแค่ Financial Supporter คุณยาญชัยอธิบายว่าด้วยจุดต่างของที่นี่ คือเราคาดหวังที่จะให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นลูกค้าของธนาคารในอนาคต

“สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพแข็งแกร่งสามารถกลายเป็นลูกค้าเราได้ในระยะยาว เมื่อเขาเติบโตไปถึงจุดที่ต้องการระดมทุนอีกรอบหนึ่ง เรามีทั้งธนาคารเพื่อให้กู้ยืม หรือถ้าเขาอยากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เราก็มีบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงที่จะช่วยแต่งตัวให้พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดได้ เราจึงเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพ series A ซึ่งมีสินค้าและตลาดทำธุรกิจมาแล้วระยะหนึ่ง เพราะเราเห็นศักยภาพเขาได้ชัดเจน เราไม่ใช่เป็นธนาคารที่ใส่เงินลงไปแล้วก็รอผลตอบแทน แต่เราเลือกจะเป็นนักลงทุนที่ช่วยให้คำแนะนำที่เขาต้องการและช่วยเร่งการเติบโตให้ได้ด้วยเครือข่ายของธนาคารที่มีอยู่ถึง 32 สาขาในต่างประเทศ และพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลก”

ดร. พนุกร เล่าว่าล่าสุดบัวหลวงเวนเจอร์สเพิ่งปิดดีลร่วมลงทุนในกองทุนฟินเทคฟันด์ที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมฟินเทคและเทคโนโลยีต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้บัวหลวงเวนเจอร์สยังกำลังศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับบริษัทที่เกี่ยวกับ Consumer Finance ในประเทศไทย ซึ่งรายละเอียดยังเปิดเผยไม่ได้

Stock Radars เป็น 1 ในจำนวนฟินเทคสตาร์ทอัพทั้งแปดทีม ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วโลกให้เข้าร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งทางบัวหลวงเวนเจอร์สเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย โดยปัจจุบัน Stock Radars ได้ร่วมมือกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในรูปแบบของการเป็น Partnership เป็นที่เรียบร้อย

“ท้ายสุดแล้ว ความมุ่งหวังของกองทุนคือเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพจะช่วยพาเราฝ่าพายุดิจิทัลไปได้ และช่วยเพิ่มเครือข่ายทางเทคโนโลยีให้เราได้ และเมื่อถึงที่สุดแล้ว สตาร์ทอัพจะกลายเป็นพาร์ทเนอร์ที่เกื้อหนุนกันด้วยการเติมเต็มสิ่งที่อีกฝ่ายไม่มี” คุณยาญชัย กล่าวปิดท้าย

Investment-Bualuang venturesคุณยาญชัย ตันติรัฐพงศ์ ซีอีโอบัวหลวงเวนเจอร์ส

 

Investment-Bualuang venturesดร. พนุกร จันทรประภาพ กรรมการผู้จัดการ บัวหลวงเวนเจอร์ส