ก้าวใหญ่ AT&T รุกธุรกิจ IoT ผ่าน Connected Car

24 January 2019 Corporate

ในธุรกิจโทรคมนาคม เอทีแอนด์ที (AT&T) อาจเป็นตัวอย่างที่ดีว่าต้องทำอย่างไรให้บริษัทรอดพ้นจากแรงกดดันในด้านบริการโครงข่ายในยุค 5G โดยสิ่งที่บริษัทเลือกทำก็คือการหันไปสร้างการเติบโตในธุรกิจ Internet of Things (IoT) แทน ด้วยการจับมือกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมากเพื่อให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสู่ตัวรถ โดยในไตรมาส 3 ของปี 2561 ที่ผ่านมา เอทีแอนด์ทีมีดีไวซ์ที่เชื่อมต่อเข้าเน็ตเวิร์กแล้วถึง 48.2 ล้านดีไวซ์ และในจำนวนนี้ มีถึง 24 ล้านดีไวซ์เป็น Connected Car หรือรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่แซงหน้าผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาไปอย่างไม่เห็นฝุ่น

คริส เพนโรส (Chris Penrose) รองประธานอาวุโสฝ่าย IoT ซึ่งดูแลธุรกิจ Connected Car ของเอทีแอนด์ทีเผยว่า บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนรถยนต์ในระบบได้มากกว่า 1 ล้านคันใน 1 ไตรมาส และเพิ่มในอัตรานี้ติดต่อกันแล้วถึง 14 ไตรมาส โดยไตรมาสที่สูงที่สุดคือไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่เพิ่มได้ถึง 2 ล้านคัน

นอกจากนั้น เอทีแอนด์ทีได้มีการประกาศจับมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า ซึ่งรวมถึงแบรนด์เล็กซัส เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับรุ่นที่จะวางจำหน่ายในปี 2563 ส่วนบริการไวไฟฮอตสปอตในรถยนต์ เอทีแอนด์ทีก็มีลูกค้าใช้บริการอยู่มากกว่า 1 ล้านราย Connected Car ขุมทรัพย์ใหม่ธุรกิจโทรคมนาคม มีการคาดการณ์จากอินเทลว่า รถยนต์อัจฉริยะนี้ จะบริโภคดาต้ามากถึง 40 เทราไบต์ใน 8 ชั่วโมง โดยมีสาเหตุจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือรถต้องรับ-ส่งข้อมูลไปมากับดาต้าเซนเตอร์ตลอดการเดินทางเพื่อความปลอดภัย และส่วนที่ 2 เมื่อไม่ต้องขับรถแล้ว มนุษย์ก็สามารถนั่งทำงาน หรือนั่งดูหนังแทนได้ ดังนั้น ดาต้าประเภทภาพยนตร์ หรือระบบความบันเทิงอื่น ๆ ที่ผู้เดินทางชื่นชอบจึงเป็นสิ่งที่ต้องมี และการมี Connected Car ในระบบจำนวนมากเท่ากับเป็นการการันตีรายได้ให้กับเอทีแอนด์ทีได้ทางหนึ่ง

เพนโรสกล่าวด้วยว่า บริษัทมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายในการพัฒนาโซลูชันชื่อ Vehicle to everything (V2X) โดยเป็นการใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่น 5G ทำให้รถสามารถสื่อสารกับรถคันอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ ยกตัวอย่างเคสที่ V2X จะเข้ามาช่วย เช่น ในกรณีที่ข้างหน้าเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์อัจฉริยะควรจะแจ้งอุบัติเหตุบนถนนให้กับรถที่ตามมาข้างหลังได้ทราบ หรือแจ้งข้อมูลจุดที่เกิดเหตุไปยังรถพยาบาลโดยตรง เป็นต้น สำหรับตลาดของ V2X ตอนนี้ มีสองมาตรฐานที่แข่งกันอยู่ นั่นคือ C-V2X กับ DSRC ซึ่งเอทีแอนด์ทีตอบอย่างได้ใจลูกค้าว่าสนับสนุนทั้งสองมาตรฐาน ดังนั้น ยิ่งตลาดนี้ใหญ่มากเท่าไร เอทีแอนด์ทีก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นเพราะสามารถกินรวบได้ทุกค่าย (รถยนต์จากค่ายฟอร์ดรองรับมาตรฐาน C-V2X)

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือความสามารถของโครงข่ายที่เอทีแอนด์ทีมีนั้น สามารถให้บริการกับอุปกรณ์ IoT ได้ในระดับโลก แทนที่จะจำกัดอยู่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ซึ่งอาจทำให้เอทีแอนด์ทีก้าวไปสู่การเป็น SI (System Integrator) ได้อีกทางหนึ่ง ส่วนพาร์ทเนอร์ด้านคลาวด์นั้น เอทีแอนด์ทีเลือกจับมือทั้ง Amazon Web Services (AWS) ที่มีธุรกิจด้าน IoT อย่างปุ่ม Amazon Dash ที่สามารถกดเพื่อสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรง และยังพาร์ทเนอร์กับไมโครซอฟท์ – ไอบีเอ็ม เพื่อให้บริการมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย

จากความพร้อมต่าง ๆ เหล่านี้ เพนโรสเผยว่า เอทีแอนด์ทีเริ่มใช้เทคโนโลยี IoT ของตัวเองในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีแล้ว

อ้างอิง: Thestreet.com